ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดสินเชื่อแบงก์ปีนี้ยังโตได้ 2 หลัก แม้หลายปัจจัยกดดัน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 11, 2013 11:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แนวโน้มสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทย ณ สิ้นปี 56 อาจเติบโตชะลอลงมาอยู่ในกรอบ 10-12% ด้วยค่ากลางที่ 11.0% เทียบกับตัวเลข ณ สิ้นเดือน ส.ค.56 ที่ขยายตัว 12.3% จากในช่วง 8 เดือนแรกของปี 56 ภาพรวมการดำเนินธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ อันได้แก่ การปล่อยสินเชื่อ ยังสามารถประคับประคองการเติบโตไว้ได้อย่างต่อเนื่องจากสิ้นปี 55

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 56 พบว่า เงินให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ (หักรายได้รอตัดบัญชี) มีจำนวนทั้งสิ้น 9.56 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 55 ซึ่งหากพิจารณาในรายละเอียดจากข้อมูล ณ สิ้นไตรมาส 2/56 แล้ว พบว่า การเติบโตของสินเชื่อในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ได้รับแรงหนุนสำคัญจากความต้องการสินเชื่อของรายย่อยที่ยังคงเติบโตได้กว่า 18.5% (YoY) (แม้จะเป็นอัตราที่ชะลอลงเล็กน้อยจากระดับ 22.6% ณ สิ้นปี 55) นำโดยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่เติบโตได้ราว 25.6% (YoY) จากการทยอยส่งมอบรถยนต์ตามโครงการรถยนต์คันแรก และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เติบโต 12.2% (YoY) สอดคล้องกับการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งแรกของปี 56 ที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ สินเชื่อภาคธุรกิจ เติบโตเร่งขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 10.8% (YoY) ณ สิ้นปี 55 มาที่ระดับ 11.2% (YoY) ในไตรมาส 2/56 ตามแรงหนุนหลักจากสินเชื่อของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ส่วนสินเชื่อของผู้ประกอบการรายใหญ่เติบโตชะลอลงตามผลของฐานที่สูงในปี 55 และการหันไประดมเงินทุนผ่านช่องทางอื่นๆ ของผู้ประกอบการรายใหญ่บางส่วน

แม้ว่าธนาคารพาณิชย์อาจต้องเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นในการประคองโมเมนตัมการเติบโตของสินเชื่อ ท่ามกลางหลากหลายปัจจัยที่อาจส่งผลกดดันต่อความต้องการสินเชื่อในระยะถัดไป ทั้งในมิติของสินเชื่อผู้ประกอบการและสินเชื่อรายย่อย

ประกอบกับ ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 56 ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทั้งในมิติของการส่งออกและการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งเมื่อผนวกกับแรงกดดันจากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอลงตามการใช้จ่ายของครัวเรือนไทยแล้ว ก็อาจหมายถึงความต้องการเบิกใช้สินเชื่อของภาคธุรกิจ ทั้งสินเชื่อเพื่อเงินทุนหมุนเวียนและสินเชื่อเพื่อการลงทุนระยะยาวในปี 56 ที่อาจเติบโตได้ไม่สดใสนัก อย่างไรก็ตาม คาดว่าความต้องการสินเชื่อสำหรับภาคธุรกิจจะกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้นในปี 57 ตามการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความคืบหน้าของแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ

นอกจากนี้ ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านตลาดทุนของกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ ทั้งในส่วนของตลาดหลักทรัพย์และตลาดตราสารหนี้ อันเป็นสาเหตุหลักที่กดดันให้ความต้องการสินเชื่อของผู้ประกอบการรายใหญ่เติบโตในอัตราที่ชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา และทำให้สินเชื่อเอสเอ็มอีมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสินเชื่อธุรกิจในภาพรวม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้สินเชื่อเพื่อลูกค้ารายย่อยจะยังมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนการเติบโตของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 56 อย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะเห็นอัตราการเติบโตที่แผ่วลงเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2556 เนื่องจากครัวเรือนมีการเร่งใช้จ่ายและก่อหนี้ในช่วงก่อนหน้าตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ประกอบกับการแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์และผู้เล่นรายอื่นในตลาดที่น่าจะชะลอความรุนแรงลง จากความกังวลต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยและปัญหาหนี้ครัวเรือน เพื่อบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้

อย่างไรก็ดี เมื่อลงในรายละเอียดของแต่ละผลิตภัณฑ์ คาดว่าจะยังคงเห็นแต่ละธนาคารพาณิชย์ทยอยออกแคมเปญตามตลาดหลักของแต่ละธนาคารที่มีความชำนาญ เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด

ช่วงที่เหลือของปี 56 นี้ ความท้าทายของธนาคารพาณิชย์ไทยคงอยู่ที่การประคองโมเมนตัมการเติบโตของสินเชื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ควบคู่ไปกับการบริหารคุณภาพสินเชื่อให้ไม่เป็นประเด็นที่ต้องกังวล เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยยังคงต้องเผชิญกับหลายปัจจัยท้าทาย ทั้งการฟื้นตัวของภาคส่งออกและภาคการผลิตที่ยังไม่มั่นคง ตลอดจนความกังวลต่อสถานการณ์หนี้ครัวเรือนซึ่งทรงตัวในระดับสูง อันจะทำให้สถาบันการเงินต่างๆ ต้องวางแนวทางการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมมากขึ้น รวมถึงลดการออกแคมเปญที่อาจมีส่วนกระตุ้นการก่อหนี้ที่ไม่สอดรับกับความสามารถในการชำระคืนของลูกค้า เพื่อให้การเติบโตของสินเชื่อเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ แม้ว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 56 สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของธนาคารพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อรายย่อยหรือสินเชื่อภาคธุรกิจจะยังไม่มีสัญญาณการเร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจนก็ตาม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ