ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ เครือข่ายองค์การบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) เร่งปรับปรุงเวปไซต์ www.tnrr.in.th ซึ่งรวบรวมงานวิจัยให้เป็นหมวดหมู่ที่ชัดเจน เปิดกว้างให้เอกชนเข้ามาจับคู่งานวิจัยเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ แสดงความคิดเห็นถึงงานวิจัย รวมถึงหามาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีหากต้องการมีการนำงานวิจัยไปต่อยอด และยังต้องการเห็นการจัดนิทรรศการงานวิจัยของภาครัฐแบบองค์รวมที่เชิญภาคเอกชนเข้ามาเลือกดูงานวิจัยที่เหมาะสม
นายกรัฐมนตรี ยังย้ำด้วยว่าอยากเห็นงานวิจัยของประเทศมุ่งเน้นการตอบโจทย์ในการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องตอบโจทย์ความต้องการของตลาด รวมถึงการวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก โดยมีการกำหนดพืช 4 ชนิดที่จะมีการให้ความสำคัญกับการนำร่องการวิจัยคือ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และอ้อย
นอกจากนี้ อยากให้มีการนำงานวิจัยไปใช้ในการพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) เพราะในปัจจุบันมีปัญหาเรื่องต้นทุนการบริหารจัดการสูง แต่ประสิทธิภาพการผลิตต่ำ ดังนั้นจึงต้องหาทางในการนำงานวิจัยไปเสริมกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มมูลค่าและมาตรฐาน ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการจัดรูปแบบการศึกษาในการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดเล็ก วิสาหกิจชุมชน ในการประยุกต์ผลงานวิจัยมาใช้ และต่อยอดด้วยกองทุนตั้งตัวได้ต่อไป
ด้านศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการ คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการรวบรวมผลงานวิจัยจากหน่วยงาน 6 ส. ได้แก่ สวทน. สวทช. สกว. สวก. สวรส. สกอ. และ วช. เป็นเครือข่ายองค์การบริหารงานวิจัยแห่งชาติ โดยพบว่าหน่วยงานดังกล่าวมีงานวิจัยรวมกันถึง 178,764 รายการ มีนักวิจัย 112,125 คน ซึ่งในขณะนี้ได้มีความพยายามในการลดความซ้ำซ้อนของการวิจัย สามารถนำไปต่อยอดใช้ได้จริง ด้วยการให้ทุกหน่วยงานร่วมกันกำหนดทิศทางและปรับพันธกิจให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และตั้งเป้าหมายการวิจัยที่มุ่งเกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและพัฒนาชุมชน
ขณะที่ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เตรียมเสนอให้รัฐบาลขยายสิทธิพิเศษในการจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มมากขึ้น ด้วยการขยายสิทธิพิเศษในการลดหย่อนภาษี โดยภาคเอกชนพร้อมที่จะต่อยอดงานวิจัยของภาครัฐให้เกิดผลในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มที่