อย่างไรก็ตาม บริษัทส่งออกแป้งมันสำปะหลัง 90% ของผลผลิตทั้งหมดหรือประมาณ 4 แสนตันต่อปี แต่ปีนี้คาดว่าจะส่งออกได้ 4.5 แสนตันต่อปีหรือประมาณ 1,400 ตันต่อวัน โดยตั้งเป้ารายปีนี้ไว้ที่ 7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 6 พันล้านบาทในปีก่อน โดยลูกค้าหลักคือ จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินเดีย ยุโรป อเมริกา
ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกแป้งมันสำปะหลังประมาณ 70% อีก 30% ใช้ในประเทศ ซึ่งในตลาดส่งออกมีการแข่งขันกันสูงระหว่างแป้งมันสำปะหลัง แป้งข้าวโพด แป้งมันฝรั่ง แป้งข้าวสาลี หรือแม้แต่อุตสาหกรรมผงชูรสก็สามารถใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบได้ด้วย ทำให้ต้องดูว่าราคาแป้งมันของเราจะแข่งขันได้หรือไม่ในอุตสาหกรรมนี้
ซึ่งคาดการณ์ว่าปีหน้าราคาแป้งข้าวโพดจะมีความใกล้เคียงกับราคาแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งต้องจับตาอัตราแลกเปลี่ยนในปีหน้าว่าจะอยู่ที่ระดับไหน แต่เราไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้มาร์จิ้นค่อนข้างต่ำ บริษัทจึงต้องมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว
นางธิดารัตน์ กล่าวถึงการกำหนดนโยบายสินค้าเกษตรของรัฐบาลว่า มีความสำคัญมาก เพราะขณะนี้ประเทศใน AEC เริ่มแย่งตลาดแป้งมันสำปะหลังของไทยแล้ว เช่น พม่าเริ่มมีผลผลิตแป้งมันสำปะหลังให้โรงงานผงชูรสที่ประเทศญี่ปุ่น เพราะฉะนั้นการกำหนดนโยบายสินค้าเกษตรในจุดที่เกษตรกรอยู่ได้ อุตสาหกรรมอยู่ได้ จะทำให้เราสามารถรักษาตลาดไว้ได้ในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม รัฐควรทบทวนโครงการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรทุกๆปี เพื่อปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่ไม่ดี ให้ดีขึ้นในปีต่อๆไป เพราะแต่ละปีสถานการณ์ตลาดทั้งในประเทศและตลาดส่งออกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
*สงวนวงษ์เอ็นเนอร์ยี ผลิตไฟฟ้าจากกากมันสด ป้อน กฟภ.
นายกวี ตันติวงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทยังได้ดำเนินธุรกิจด้านการผลิตและจำหน่ายก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียและก๊าซชีวภาพจากมันสำปะหลัง ภายใต้การดำเนินธุรกิจของบริษัท สงวนวงษ์เอ็นเนอร์ยี จำกัด บริษัทมีกำลังผลิตก๊าซชีวภาพสูงสุด 150,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน แต่ปัจจุบันใช้กำลังผลิตตามการใช้จริงประมาณ 7-8 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อวัน และผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 8 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ ธุรกิจการผลิตก๊าซชีวภาพและกระแสไฟฟ้าเกิดจากแนวคิดของกระบวนการผลิตแป้งมันสำปะหลัง ได้แก่ กากมันสด ซึ่งเดิมขายขายให้กับชาวบ้านนำไปผสมเป็นอาหารสัตว์ แต่เนื่องจากในฤดูฝนจะมีปัญหาในการตากกาก ประกอบกับต้นทุนด้านพลังงานมีแนวโน้วสูงขึ้น จึงมีแนวคิดในการนำกากมันสดมาผ่านกระบวนการหมักจนเกิดเป็นก๊าซชีวภาพ และนำมาผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งก๊าซชีวภาพที่ผลิตขึ้น บริษัทขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ทั้ง 100% เป็นเวลา 7 ปี สัญญา COD นับตั้งแต่เดือนเมษายน 55 โดย กฟภ.ให้ส่วนต่าง 30 สตางค์ต่อ 1 กิโลวัตต์ ซึ่งให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการส่งให้บริษัทในเครือซึ่งไม่มี Adder โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงพลังงาน ในการดำเนินการตั้งโรงผลิตไฟฟ้า 10 ล้านบาท แต่ในอนาคตมีแผนจะส่งให้บริษัทในเครือ
"อีก 7 ปีเราค่อยมาคิดว่าถึงตอนนั้นเราจะส่งให้บริษัทในเครือหรือส่งให้ กฟภ.ต่อ"นายกวี กล่าว