ครม.อนุมัติกฟผ.ขยายระบบไฟฟ้าในกทม.-ปริมณฑล ระยะ 3 กว่า 1.2 หมื่นลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 15, 2013 16:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการขยายระบบไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระยะที่ 3 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) วงเงินลงทุนรวม 12,100 ล้านบาททั้งนี้ จะใช้เวลาตั้งแต่เริ่มศึกษาเตรียมงานจนก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณ 5 ปี 5 เดือน โดยมีกำหนดแล้วเสร็จประมาณเดือนสิงหาคม 2561

สำหรับขอบเขตงานโครงการขยายระบบไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระยะที่ 3 ประกอบด้วย 8 โครงการย่อย ดังนี้

โครงการย่อยที่ 1 : ยกระดับแรงดันสายส่ง 500/230 เควี ไทรน้อย-รังสิต-แจ้งวัฒนะ เป็นระบบแรงดัน 500 เควี ไทรน้อย-แจ้งวัฒนะ (Bypass รังสิต)

โครงการย่อยที่ 2 : ก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูง 230 เควี (GIS) จตุจักร (เป็นสถานีไฟฟ้าแรงสูงแห่งใหม่)

โครงการย่อยที่ 3 : ยกระดับแรงดันสายส่ง 500 เควี ไทรน้อย-บางกอกน้อย ซึ่งระยะแรกจ่ายที่ระดับแรงดัน 230 เควี เป็นระบบแรงดัน 500 เควี

โครงการย่อยที่ 4 : ก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูง 230 เควี (GIS) เอราวัณ (เป็นสถานีไฟฟ้าแรงสูงแห่งใหม่)

โครงการย่อยที่ 5 : ก่อสร้างสายส่งชั่วคราว 230 เควี บางพลี-อ่อนนุช ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น

โครงการย่อยที่ 6 : ติดตั้งหม้อแปลงเพิ่มเติมตามสถานีไฟฟ้าแรงสูงต่างๆ

โครงการย่อยที่ 7 : ติดตั้งตัวเก็บประจุไฟฟ้าแบบขนาน (Shunt Capacitor) ตามสถานีไฟฟ้าแรงสูงต่าง ๆ

โครงการย่อยที่ 8 : ขยายระบบส่งไฟฟ้าเบ็ดเตล็ดระหว่างโครงการและการจัดซื้อที่ดินสำหรับสถานีไฟฟ้าแรงสูงในระยะถัดไป ; ปรับปรุงสถานีไฟฟ้าแรงสูงลาดพร้าว ปรับปรุงสถานีไฟฟ้าแรงสูงพระนครใต้ จัดซื้อที่ดินสำหรับสถานีไฟฟ้าแรงสูงราชพฤกษ์ จัดซื้อที่ดินสำหรับสถานีไฟฟ้าแรงสูงนิมิตใหม่

สำหรับราคาประมาณค่าก่อสร้างโครงการขยายระบบไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลระยะที่ 3 คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 12,100 ล้านบาท แยกเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ 5,000 ล้านบาท (เทียบเท่า 161.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ : อัตราแลกเปลี่ยน 31 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ) และค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์ในประเทศและการก่อสร้างอีก 7,100 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ