(เพิ่มเติม) กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ตามคาด มองปัจจัยตปท.ยังมีความเสี่ยง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 16, 2013 14:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุม ครั้งที่ 7/2556 วันที่ 16 ต.ค. 56 ไว้ที่ 2.50% ตามตลาดคาดการณ์ โดยกนง.มีมติด้วยเสียง 6:0 โดยในการประชุมครั้งนี้ กรรมการ 1 ท่านลาประชุม คือ นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการ ธปท.

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการ กนง.กล่าวว่า กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวช้ากว่าที่คาด แต่เริ่มทรงตัวและเห็นสัญญาณปรับดีขึ้นในบางภาค โดยการส่งออกเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกที่ปรับดีขึ้น ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนทรงตัว

และในระยะต่อไปเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ภายใต้ภาวะการเงินในปัจจุบันที่ยังผ่อนปรน แต่ยังคงมีความเสี่ยงสำคัญจากความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับความล่าช้าในการเบิกจ่ายโครงการลงทุนของภาครัฐ สำหรับอัตราเงินเฟ้อชะลอลงตามต้นทุนการผลิตโดยรวมที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำและอุปสงค์ในประเทศ ในขณะที่อัตราการเพิ่มของหนี้ครัวเรือนเริ่มชะลอลงบ้าง

"เศรษฐกิจไทยเริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ขณะที่นโยบายการคลังแม้มีความล่าช้าออกไปบ้างแต่ยังมีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจ การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในปัจจุบันจึงยังมีความเหมาะสมในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยเฉพาะภายใต้ภาวะเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังมีความไม่แน่นอน คณะกรรมการฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี" นายไพบูลย์ กล่าว

ขณะที่เศรษฐกิจโลกมีทิศทางค่อยๆ ปรับดีขึ้น แม้ยังมีความเสี่ยงอยู่มาก โดยเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่ผลกระทบจากการปิดดำเนินงานหน่วยงานราชการบางส่วนของรัฐบาลสหรัฐคาดว่าจะมีจำกัด แต่ผลการเจรจาปรับเพดานหนี้สาธารณะเป็นความเสี่ยงสำคัญที่กระทบเสถียรภาพภาวะเศรษฐกิจการเงินโลก เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรเริ่มเห็นการฟื้นตัวในหลายประเทศและความเชื่อมั่นปรับดีขึ้น เศรษฐกิจจีนมีการฟื้นตัวทั้งในภาคการส่งออก การผลิต และการลงทุน เช่นเดียวกับเศรษฐกิจเอเชียเหนือที่ปรับตัวดีขึ้นจากการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัว

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจอาเซียนมีแรงกระตุ้นภายในประเทศที่ชะลอลง กอปรกับเสถียรภาพด้านต่างประเทศเริ่มมีความเสี่ยงสูงขึ้นบ้าง ทำให้อาจได้รับผลกระทบจากภาวะการเงินโลกที่ยังมีแนวโน้มผันผวน จากความไม่ชัดเจนของช่วงเวลาในการทยอยปรับลดวงเงินการทำธุรกรรม QE และปัญหาหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ

นายไพบูลย์ กล่าวว่า กนง.ยอมรับว่ายังประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นในสหรัฐได้ยาก เพราะแม้สหรัฐเองก็ไม่สามารถประเมินได้เห็นภาพชัดเจน เพราะมี dynamic ที่ส่งผลต่อตลาดการเงิน และเศรษฐกิจโลกมาก ขณะที่ตลาดเงินมีความซับซ้อนมาก เนื่องจากมีการกู้เงินกันมากในตลาดซื้อคืนพันธบัตรสูงถึง 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หากตกลงกันไม่ได้ก็จะมีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดให้เกิดการตึงตัว ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการกู้ยืมและเสถียรภาพเศรษฐกิจ

แต่ทั้งหมดยังเป็นการคาดเดา เพราะขนาดของผลกระทบจะมากน้อยแค่ไหนคงขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาของตลาด ซึ่งขณะนี้จะเห็นได้ว่าตลาดก็ยังไม่ได้ผิดปกติมาก ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐยังอยู่ในระดับปกติ เพราะเชื่อว่าในที่สุดสถานการณ์ในสหรัฐจะคลี่คลายลงได้

ทั้งนี้ กนง.ให้ความสำคัญและเตรียมความพร้อมรับมือกับความผันผวนที่จะเกิดขึ้น และมีความยืดหยุ่นที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายตามสถานการณ์ มีเครื่องมือในการดูแลสภาพคล่องของอัตราแลกเปลี่ยนทั้งเงินบาทและดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงการดูแลความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายที่จะส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน ในที่ประชุมมีการหารือกันและมั่นใจว่าไทยมีเครื่องมือพร้อมรับสถานการณ์ได้ แต่ขณะนี่ยังอยู่ในภาวะปกติ

นอกจากนั้น ยังพิจารณาปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินของไทย เช่นการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ภาระหนี้ครัวเรือนที่ขณะนี้อยู่ในทิศทางที่ชะลอลง รวมถึงการขาดดุลของรัฐบาล โดยเฉพาะจากภาระการรับจำนำข้าวที่แม้จะไม่ได้มีการพิจารณาเฉพาะเจาะจง แต่ก็ได้มีการพูดคุยกัน เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติเริ่มให้ความสนใจ เพราะเป็นปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจในประเทศตลาดเกิดใหม่ นักลงทุนมองว่าฐานะการคลังในระยะข้างหน้าอาจมีความเปราะบาง

สำหรับการทบทวนประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของประเทศนั้น ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้มีการประเมินและนำเสนอที่ประชุม โดยจะมีการแถลงในวันที่ 25 ต.ค.นี้ ซึ่งจะเห็นภาพการพยากรณ์ตัวเลขเศรษฐกิจ ปัจจัยที่นำมาพิจารณาคือการเบิกจ่ายงบประมาณที่ต่ำกว่าคาด และแนวโน้มก็ยังไม่ได้เร่งตัวขึ้น การส่งออกมองว่าจะทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในช่วงที่เหลือของปีต่อเนื่องจนถึงปีหน้าตามภาวะเศรษฐกิจโลก สอดคล้องกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)ประเมินว่าเศรษฐกิจกลุ่ม G-3 จะปรับตัวดีขึ้น แม้มีความเสี่ยงในการฟื้นตัวของสหรัฐ แต่ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น รวมถึงญี่ปุ่นและยุโรป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ