รมช.พาณิชย์ ยังชี้แจงว่า หากคิดง่ายๆ โครงการรับจำนำปี 55/56 ธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) จ่ายเงินจำนำข้าวเข้าบัญชีของชาวนาที่เข้าร่วมโครงการ 345,000 ล้านบาท และยังมีข้าวจำนวนมากที่ยังขายไม่หมด หากกระทรวงพาณิชย์ขายราคาถูกที่สุดราวตันละ 8,000 บาท หรือในราคาครึ่งหนึ่งของราคาที่รับจำนำ 15,000 บาท ก็จะมีผลขาดทุน 170,000-180,000 บาท จากปริมาณข้าวที่เข้าร่วมโครงการ 22 ล้านตัน
"ถ้าคิดอย่างโง่ที่สุด รัฐบาลขายข้าวในราคาครึ่งหนึ่งของราคารับจำนำ ก็จะมีผลขาดทุนไม่ถึง 200,000 ล้านบาทอย่างที่กล่าวอ้าง แต่กระทรวงพาณิชย์พยายามจะขายให้ได้ราคาดีที่สุด ไม่ได้ขายดัมพ์ราคาเพื่อแข่งขันกับคู่แข่ง อีกทั้งยังมีข้าวในสต๊อกที่ปลอดภาระผูกพัน หรือยังไม่ได้ขายใครอีกราว 7-8 ล้านตัน จึงยังมีข้าวเหลืออยู่อีกจำนวนหนึ่งที่จะขายเอาเงินมาคลังได้ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจะขาดทุนถึงกว่าปีละ 200,000 ล้านบาท อย่างที่นักวิชาการรุ่นเก่าหรือนักวิชาการตกรุ่นกล่าวอ้าง" นายยรรยงกล่าว
สำหรับโครงการรับจำนำข้าวปี 56/57 ที่เริ่มต้นโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมานั้น มีข้าวเข้าสู่โครงการยังไม่มากนัก เป็นเพราะข้าวบางส่วนเสียหายจากภัยน้ำท่วม และคาดว่าโครงการรับจำนำปีนี้จะมีข้าวเข้าสู่โครงการไม่มากตามที่ประเมินไว้ เพราะคาดจะมีข้าวเสียหายจากน้ำท่วมประมาณ 10% ของปริมาณผลผลิตรวม หรือเสียหายราว 3 ล้านตันข้าวเปลือก จากผลผลิตรวมราว 30 ล้านตันข้าวเปลือก
ด้านนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ในส่วนของตัวเลขการขาดทุนของโครงการรับจำนำข้าวคงจะต้องมีการขอตัวเลขเพิ่มเติมเพื่อที่จะชี้แจงว่ามันตรงหรือไม่ตรงอย่างไร เพราะไม่ทราบว่าตัวเลขที่ออกมา มาจากข้อมูลของหน่วยงานใด และตัวเลขล่าสุดที่ได้รับก็เป็นของเดือนมกราคม 2556
"เรื่องการขาดทุนมันเป็นเรื่องของการปิดบัญชี ถ้าถามว่าจะขาดทุนเท่าไร ถ้าเอาตัวเลขแน่ๆก็ต้องขายของให้หมดก่อน ซึ่งตัวเลขขาดทุนปี 2556 ตนเองจำตัวเลขไม่ได้ แต่สรุปประมาณการขาดทุนเพียง 1 แสนล้านบาทเท่านั้น" นายนิวัฒน์ธำรง กล่าว