เงินบาทปิด 31.26/28 ยังแกว่งแคบ ลุ้นสหรัฐฯผ่านเพดานหนี้ทันกำหนดหรือไม่

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 16, 2013 17:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 31.26/28 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัวในระดับเดียวกันกับช่วงเปิดตลาด ระหว่างวันแกว่งตัวในกรอบแคบๆ เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยใหม่ โดยเงินบาทไปทำโลว์ที่ระดับ 31.23 บาท/ดอลลาร์ และทำไฮที่ระดับ 31.30 บาท/ดอลลาร์
"แกว่งตัวในกรอบแคบๆ เหมือนเดิม รอวันที่ 17 ตุลาฯ(สิ้นสุดการขยายเพดานหนี้ของสหรัฐ)" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันพรุ่งนี้ไว้ในกรอบระหว่าง 31.20-31.35 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 98.32/33 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 98.53/55 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.3536/3538 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.3511/3512 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,464.38 จุด ลดลง 8.52 จุด, -0.58% ปริมาณซื้อขาย 41,198.12 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 29.65 ล้านบาท(SET+MAI)
  • คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุม ครั้งที่ 7/2556 วันที่ 16 ต.ค.56 ไว้ที่ 2.50% ตามตลาดคาดการณ์ โดย กนง.มีมติด้วยเสียง 6:0 ส่วนการทบทวนประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของประเทศนั้น ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้มีการประเมินและนำเสนอที่ประชุมฯ โดยจะมีการแถลงในวันที่ 25 ต.ค.นี้ ซึ่งจะเห็นภาพการพยากรณ์ตัวเลขเศรษฐกิจ ปัจจัยที่นำมาพิจารณาคือการเบิกจ่ายงบประมาณที่ต่ำกว่าคาด และแนวโน้มก็ยังไม่ได้เร่งตัวขึ้น การส่งออกมองว่าจะทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในช่วงที่เหลือของปีต่อเนื่องจนถึงปีหน้าตามภาวะเศรษฐกิจโลก สอดคล้องกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)ประเมินว่าเศรษฐกิจกลุ่ม G-3 จะปรับตัวดีขึ้น แม้มีความเสี่ยงในการฟื้นตัวของสหรัฐ แต่ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น รวมถึงญี่ปุ่นและยุโรป
  • น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจเช้านี้หารือถึงปัญหาทางเศรษฐกิจของสหรัฐทั้งเรื่องงบประมาณและการขยายเพดานหนี้ โดยจะติดตามการประชุมของรัฐสภาสหรัฐฯ ในวันพรุ่งนี้อีกครั้ง ซึ่งเป็นวันครบกำหนดเส้นตายว่าจะมีการขยายเพดานหนี้เพิ่มเติมหรือไม่ เพื่อจะได้พิจารณาว่าในส่วนของประเทศไทย จำเป็นต้องมีการนำมาตรการใดออกมาใช้เพื่อลดผลกระทบจากกรณีดังกล่าวหรือไม่
  • นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ระบุสถานการณ์การขยายเพดานหนี้สหรัฐที่ยังไม่มีข้อสรุปในขณะนี้ หากไม่ทันกำหนดวันที่ 17 ก.ย.นี้อาจจะยังไม่กระทบต่อเศรษฐกิจของไทยมากนัก เนื่องจากปัจจุบันไทยมีทุนสำรองสูงถึง 1.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพียงพอกับหนี้สินต่างประเทศจำนวน 1.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยหนี้ทั้งหมดนี้เป็นหนี้ที่รวมหนี้ระยะสั้น 1 ปีอยู่ด้วย ถือว่าเศรษฐกิจไทยยังมีเสถียรภาพเมื่อเทียบกับต่างประเทศ
  • กลุ่มบริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก กล่าวว่า ทิศทางราคาทองคำในปี 56 จนถึงปี 57 ยังมีทิศทางปรับตัวลดลง มองจุดต่ำสุดของราคาทองคำในปีนี้ไว้ที่ 1,180 ดอลลาร์/ออนซ์ ส่วนในปี 57 มองจุดต่ำสุดที่ 1,000-1,100 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งคาดว่าคงไม่หลุดระดับดังกล่าว เนื่องจากเป็นราคาต้นทุนหน้าเหมืองและประเทศจีนยังมีความต้องการทองคำสูง
  • สมาคมแลกเปลี่ยนทองคำและเงินของจีน เผยราคาทองคำที่ตลาดฮ่องกงพุ่งขึ้น 168 ดอลลาร์ฮ่องกง ปิดที่ระดับ 11,898 ดอลลาร์ฮ่องกง/ตำลึงในวันนี้ หรือราคาเทียบเท่ากับ 1,288.70 ดอลลาร์สหรัฐ/ทรอยออนซ์ เพิ่มขึ้น 18.20 ดอลลาร์สหรัฐ ที่อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ/7.75 ดอลลาร์ฮ่องกง
  • นายโอลี เรห์น รองประธานคณะกรรมาธิการของสหภาพยุโรป(EU) กล่าวว่า เศรษฐกิจยุโรปกำลังอยู่ ณ จุดเปลี่ยน และคาดว่า จะฟื้นตัวเล็กน้อยในปีนี้ และเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของอียูจะมีการเปิดตัวโครงการเพื่อสนับสนุนด้านการเงินให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก(SMEs) ซึ่งถือเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจยุโรป
  • รายงานการสำรวจของเวสต์แพค แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น และสถาบันเมลเบิร์น คาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจออสเตรเลียจะชะลอตัวลงในช่วงต้นปี 2557 โดยในปี 2556 คาดว่า เศรษฐกิจออสเตรเลียจะขยายตัว 2.5% และ 2.3% ในปี 2557
  • ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีปิดลดลง เนื่องจากมีแรงซื้อที่ได้รับปัจจัยหนุนจากการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปีที่เป็นไปด้วยดี โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรหมายเลข 330 ซึ่งเป็นมาตรวัดดอกเบี้ยระยะยาว ปิดที่ 0.635% ลดลง 0.025% จากระดับปิดเมื่อวานนี้ ส่วนราคาสัญญาพันธบัตรอายุ 10 ปี ส่งมอบเดือน ธ.ค.เพิ่มขึ้น 0.21 จุด แตะที่ระดับ 144.46 ที่ตลาดหุ้นโตเกียว
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษ เผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานลดลง 41,700 รายในเดือน ก.ย.ซึ่งลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ และลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.40 ขณะที่อัตราว่างงานยังทรงตัวที่ 7.7% ในช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค. เมื่อเทียบกับช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. ซึ่งสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ