"ตอนนี้ประเทศไทยเหมือนคนเป็นเบาหวาน เพราะทุกรัฐบาลต่างแจกขนมให้ประชาชนกินระบบประชานิยม จนกลายเป็นเบาหวานกันทั้งระบบ ซึ่งการเป็นเบาหวานกันทั้งประเทศเป็นเรื่องที่น่ากลัว" นายทนงกล่าว
พร้อมเห็นว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยขณะนี้อยู่ในภาวะที่ซึมตัว ซึ่งแม้จะมีการเติบโตอยู่บ้างแต่ก็ยังไม่มากนักเมื่อเทียบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน โดยสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยภายนอกในเรื่องเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก แต่ปัจจัยภายในที่สำคัญและเชื่อว่ามีผลอย่างมาก คือ นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ยังทำได้ไม่ถูกทิศทาง ซึ่งเห็นได้จากการที่รัฐบาลใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะที่ประเทศไทยมีอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำ และไม่ได้ประสบปัญหาการว่างงาน ซึ่งผลจากการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจึงไม่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้อย่างที่ควรจะเป็น
ดังนั้นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลควรจะทำ คือ การใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นในเรื่องการเพิ่มศักยภาพการผลิต การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้รัฐบาลได้ละเลยที่จะให้ความสำคัญไป โดยเห็นว่ารัฐบาลต้องหันกลับมาส่งเสริมการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมแทนสินค้าเกษตรหรือสินค้าขั้นปฐมให้มากขึ้น ทั้งนี้เพื่อจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยและเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ภาคเกษตร
"เราต้องลดประชากรภาคเกษตรลง และให้ไปเพิ่มอยู่ในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น...หยุดการแจกของหวาน แต่ต้องทำให้เขามีความรู้ ให้เป็นแรงงานที่มีฝีมือ และการสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีการลงทุนเพิ่มขึ้น"
นายทนง มองว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงในระบบเศรษฐกิจไทย คือ การติดกับดักรายได้ โดยรายได้ของผู้ที่มีรายได้น้อยยังไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้ ขณะที่ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานต่ำแต่เศรษฐกิจกลับเติบโตได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นรัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการอัดฉีดเม็ดเงินไปสู่การสร้างสมรรถนะและความเข้มแข็งให้แก่แรงงาน และภาคการผลิต กระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจแก่ภาคธุรกิจในการเข้ามาลงทุนไม่ว่าจะเป็นจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนต่างๆ ตลอดจนการช่วยสนับสนุนภาคเอกชนให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ มีตลาดรองรับ และสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีต รมว.พาณิชย์ มองว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้อยู่ในภาวะที่อ่อนไหวง่ายและไม่มั่นคงหากมีปัจจัยเข้ามากระทบ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับร่างกายแล้ว ไม่ถือว่ามีโรคร้ายทางกาย แต่จะมีอาการคล้ายภูมิคุ้มกันบกพร่อง และมีโรคทางจิตใจ
"ทางกายตอนนี้คงไม่แข็งแรง ไม่ได้เป็นโรคร้าย แต่มีโรคทางจิตใจ เช่นการชอบทำร้ายตัวเองเป็นครั้งคราว การเผาบ้านเผาเมือง...ตอนนี้เศรษฐกิจไทยอ่อนไหวง่าย ไม่ค่อยมั่นคง เหมือนภูมิคุ้มกันบกพร่อง" นายณรงค์ชัยกล่าว
ทั้งนี้การที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะที่อ่อนไหวง่ายเป็นผลมาจากไทยต้องพึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศในสัดส่วนที่สูง โดยเฉพาะด้านการค้าและการส่งออก นอกจากนี้ไทยยังขาดความพร้อมในการบริหารจัดการหรือรับมือต่อความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น กรณีภัยธรรมชาติ และสุดท้ายคือความไม่เป็นธรรมในระบบยุติธรรม
นายณรงค์ชัย กล่าวว่า สำหรับสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในระบบเศรษฐกิจไทย คือ การเป็นหนี้ ซึ่งมีทั้งหนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะ และหนี้ภาครัฐ โดยมองว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับโรคติดกับดักหนี้ หรือกระบวนการแก้ปัญหาหนี้เก่าด้วยหนี้ใหม่ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ของประเทศมีรายจ่ายเกินกว่ารายได้ ซึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมการใช้จ่ายของสังคมยุคใหม่ ในขณะที่การหารายได้มีจำกัด ประกอบกับคนส่วนใหญ่ของประเทศยึดอาชีพอิสระ ซึ่งอยู่นอกระบบราชการ และระบบประกันสังคม
"ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ หนี้ภาครัฐ เพราะตอนนี้เข้าใกล้ 60% ของจีดีพีแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากโครงการประชานิยม และเกิดวัฒนธรรมการทวงสิทธิ ดังจะเห็นได้จากกรณีของสินค้าข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพด เป็นต้น" นายณรงค์ชัย กล่าว
นายสมพล เกียรติไพบูลย์ อดีตประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และอดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ชีพจรของประเทศไทยยังมีปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนยังพูดถึง เปรียบได้กับมะเร็งร้ายที่ยังระบาดอยู่ในประเทศไทย มาจากการยอมรับความมีอำนาจที่สร้างมาจากเงิน ทำให้เกิดความเลื่อมล้ำของสังคมเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นควรมีการปลูกฝั่งความรู้ให้กับประชาชนและสร้างความร่วมมือในทุกๆฝ่ายเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น อย่างที่หลายประเทสได้ทำสำเร็จ เช่น สิงค์โปร์ ฮ่องกง และญี่ปุ่น
"ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องที่ทุกคนพูดถึง เปรียบได้กับมะเร็งร้ายหรือโรคระบาดที่ยากต่อการสกัดกั้น ทำไมคนรู้ว่ามันเลวร้ายแล้วยังเกิดขึ้นขึ้นอยู่ เพราะทุกวันนี้สังคมไทยยอมรับเงินในการสร้างอำนาจ บูชาอำนาจและเงิน ต่างคนก็พยายามไขว่คว้าหามา มีกลโกงต่างๆ เกิดขึ้นมากในประเทศ แม้การคอร์รัปชั่นจะมีต้นทุนต่ำ แต่ขอร้องว่าอย่าทำเป็นอาชีพ เราควรมีกระบวนการปลูกฝังเยาวชนเกี่ยวกับเรื่องคอร์รัปชั่น และทุกฝ่ายควรร่วมมือกัน เพื่อขจัดปัญหาคอร์รัปชั่น อย่างที่หลายประเทศประสบความสำเร็จ อย่างเช่น สิงค์โปร์ ฮ่องกง และญี่ปุ่น"นายสมพล กล่าว
สำหรับเรื่องที่ยังมีความเป็นห่วงในประเทศไทยเกี่ยวกับการบริหารงานของภาครัฐที่การบริหารงานยังไม่มีประสิทธิภาพและการใช้จ่ายงบประมาณที่ยังมีการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย นอกจากนี้การกำหนดนโยบายต่างๆ ของภาครัฐหากมีข้อทักท้วงจากสังคม รัฐบาลควรหยุดคิดก่อนที่จะตัดสินใจทำ ซึ่งปัจจุบันนี้นโยบายต่างๆ ที่สร้างปัญหารัฐบาลยังไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากคนอื่นเท่าที่ควร จะให้ดำเนินโครงการต่อไปข้างหน้าอย่างเดียว และภาครัฐควรมีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ดี โดยเฉพาะเรื่องที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศในระยะยาว
"นโยบายที่มาจากภาครัฐส่วนใหญ่มีแต่รูปแบบแต่ไม่มีสาระ มีแต่ปริมาณไม่มีคุณภาพ และการทำงานมียุทธศาสตร์มากมายออกมาแต่การดำเนินงานไม่ตรงตามยุทธศาสตร์ หรือเรียกว่าไม่มีกลยุทธ์"นายสมพล กล่าว
นายทศ จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่คนทั่วโลกนั้นยอมรับ มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี กรุงเทพฯ ถูกจัดอันดับเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับ 1 แต่สิ่งสำคัญที่ประเทศไทยยังต้องพัฒนาคือการผสมผสานวัฒนธรรมไทยให้เข้ากับสากล ทำให้มีความทันสมัยและเข้าถึงได้ง่าย
นอกจากนี้การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในปี 2558 เศรษฐกิจของประเทศไทยจะไม่เป็นเพียงเศรษฐกิจในประเทศอย่างเดียว แต่รวมถึงเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งประเทศไทยควรมองประเทศตนเองให้เป็นศูนย์กลาง อย่างที่ประเทศอื่นมองว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางใน AEC
"เมื่อเปิด AEC เศรษฐกิจของเราก็ไม่มใช่แค่ในประเทศอย่างเดียว แต่จะรวมไปถึงในภูมิภาคด้วย เราต้องมองโจทย์ให้ออกว่าเราจะไปอยู่ตรงไหน อีกหน่อยโลกก็จะแบ่งออกเป็นโซนๆ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่ทั่วโลกต่างจับตามอง ในอีก 10 ปีข้างหน้า ภูมิภาคเราอาจขึ้นเป็นเบอร์ 1 ได้ แต่เราควรมองตัวเองให้ประเทสเราเป็นศูนย์กลางด้วย อย่างที่คนต่างชาติเค้ามองเราเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคนี้ และควรร่วมมือกับทุกๆประเทสในภูมิภาคให้โตไปด้วยกัน เพราะเศรษฐกิจไม่ใช่ของเราคนเดียว ถ้าเราดุแต่ของเราคนเดียวในอนาคตคงจะเหนื่อย" นายทศ กล่าว
ส่วนปัญหาที่ยังเป็นห่วงในประเทศไทยเกี่ยวกับเรื่องภาษาในการสื่อสารกับต่างชาติ เนื่องจากประเทศไทยติดอันดับเกือบสุดท้ายที่มีคนพูดภาษาต่างชาติได้น้อย และใช้ภาษาอังกฤษได้น้อยมาก ซึ่งจะส่งผลต่อการเรียนรู้และศักยภาพในการติดต่อค้าขายในอนาคต ทำให้สูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ
"ภาษาเป็นเรื่องที่สำคัญที่เรายังต้องมีการพัฒนาให้มากขึ้น เพราะในอนาคตเราต้องออกไปติดต่อการค้ากับต่างชาติ และความรู้ต่างๆเราก็ต้องมีการศึกษาจากต่างชาติ ถ้าเรามพัฒนาภาษาให้มากขึ้น จะทำให้เราสูญเสียโอกาสและสูญเสียการสร้างรายได้ให้กับประเทศ" นายทศ กล่าว
ด้านนายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า การจัดตั้งกองทนความมั่งคั่งในเวลานี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่จะจัดตั้ง เนื่องจากประชาชนในประเทศยังขาดความเข้าและติดตามเรื่องราวต่างๆ ทางการเงิน และยังขาดความโปร่งใสในการบริหารจัดการทางการเงิน และการจัดตั้งกองทุนยังมีความเสี่ยงในการบริหารจัดการ
"การจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งเวลานี้คงยังไม่สมควร เพราะคนในประเทศเรายังขาดความเข้าใจและจิดจามเรื่องทางการเงิน และการบริหารขจัดการทางการเงินก็ไม่โปร่งใส ส่วนเงินสำรองของแบงก์ชาติประมาณ 1.8 แสนล้านเหรียญ ที่บอกว่าจะเก็บไว้ทำไม ก็อยากให้ดูเนื้อแท้ว่าเงินในเวลานี้ต่างชาติถือหุ้นในตลาด 1 แสนล้านเหรียญ ตารสารหนี้อีก 2.5 แสนล้านเหรียญ ส่วนที่เหลือก็เป็นของภาคเอกชน การทำกองทุนความมั่งคั่งการยังมีความเสี่ยงในการบริหารจัดการอยู่แน่นอน และเกี่ยวกับมูมมองนโยบายของภาครัฐในไทยคนทำก็ยังมีน้อย อยากให้สถาบันการศึกษาต่างๆทำให่มากกว่านี้"นายบรรยง กล่าว
ส่วนเรื่องที่ยังน่าเป็นห่วงในขณะนี้เป็นเรื่องการกระจายความมั่งคั่ง แม้ว่าคนยากจนจะลดลง ซึ่งมีอยู่ไม่ถึง 10% จากเดิมที่ 30% แต่การกระจายรายได้ในประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย นอกจากนี้โอกาสในการศึกษาของประชาชนในประเทศก็ยังไม่เท่าเทียมกัน