ทั้งนี้ เงินที่ได้จากการขายข้าวดังกล่าวและส่งคืนให้กับ ธ.ก.ส.แล้วนั้น แสดงว่ากระทรวงพาณิชย์สามารถขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลได้ ซึ่งไม่เป็นไปตามที่นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวหาว่ารัฐบาลระบายในสต๊อกได้น้อย และสามารถคืนเงินได้เพียง 120,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ข้าวที่เหลือในสต๊อกรัฐบาลมีทั้งหมด 14 ล้านตัน โดยมีภาระผูกพันแล้ว 5 ล้านตัน เหลืออีก 9-10 ล้านตัน ซึ่งในจำนวนนี้จะต้องสำรองเพื่อความปลอดภัย(เซฟตี้ สต๊อก) อีก 3-4 ล้านตัน เหลือข้าวที่ขายได้อีก 5-6 ล้านตัน เชื่อว่าภายในสิ้นปีนี้จะสามารถคืนเงินจากการขายข้าวในสต๊อกได้เพิ่มอีก 30,000 ล้านบาท หรือใกล้เคียงกับเป้าหมายการคืนเงินที่ 220,000 ล้านบาท
"การเงินคืนจากขายสต๊อกข้าวจนถึงสิ้นปีนี้น่าจะคืนได้เพิ่มอีก 30,000 ล้านบาท แม้จะไม่ถึงเป้าหมาย 220,000 ล้านบาท แต่ก็ใกล้เคียง ถือว่ารัฐบาลยังคงทำได้ตามแผนอยู่"นายยรรยง กล่าว
สำหรับการขายข้าวให้ประเทศจีนปีละ 1 ล้านตัน เป็นรูปแบบความตกลงที่นายกรัฐมนตรีไทยและนายกรัฐมนตรีจีนได้ตกลงกัน ถือว่าผูกมัดยิ่งกว่าการทำบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู) โดยเอ็มโอยูเป็นหนังสือแสดงเจตนารมณ์สร้างความสัมพันธ์ ซึ่งหลังจากนี้ฝ่ายปฏิบัติจะเป็นผู้ดำเนินการในขั้นตอนรายละเอียดให้ความตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นจริง
ขณะที่การลงนามเอ็มโอยูระหว่างบริษัท คอฟโก รัฐวิสาหกิจของจีน และเอกชนไทยเพื่อซื้อข้าว 1 ล้านตัน ภายใน 5 ปี หรือปีละ 200,000 ตันนั้น จุดเริ่มต้นก็มาจากรัฐบาล โดยก่อนหน้านี้ราวเดือน ก.ย.56 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปหนานหนิง และได้เจรจากับรัฐบาลจีนจึงเกิดข้อตกลงดังกล่าว แต่ภาคเอกชนกลับออกมาระบุว่าเป็นเอ็มโอยูที่เอกชนดำเนินการ ไม่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ