ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญประกอบด้วย ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ย. (ซึ่งเลื่อนมาประกาศในวันที่ 22 ต.ค. หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ กลับมาเปิดทำการได้ตามปกติ) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนต.ค. ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่และบ้านมือสองเดือนก.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
นอกจากนี้ ตลาดการเงินในประเทศ อาจจับตาข้อมูลการค้าระหว่างประเทศเดือนก.ย. (ตามฐานกรมศุลกากร) และตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยที่ทบทวนใหม่ของธปท.ในระหว่างสัปดาห์ด้วยเช่นกัน
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าทดสอบระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์ฯ เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆช่วงต้น-กลางสัปดาห์ เนื่องจากตลาดการเงินส่วนใหญ่ยังคงรอผลสรุปการแก้ไขปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เงินบาทดีดตัวกลับมาอย่างแข็งแกร่งในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ท่ามกลางแรงซื้อสุทธิในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากตลาดคาดว่า เฟดน่าจะคงมาตรการ QE ต่อไป (แม้สหรัฐฯ จะบรรลุข้อสรุปการเพิ่มเพดานหนี้ พร้อมๆ กับการบังคับใช้งบประมาณฉุกเฉินเพื่อให้หน่วยงานของรัฐบาลกลับมาเปิดทำการได้ตามปกติอีกครั้ง) นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินหยวนอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นปัจจัยบวกต่อภาพรวมของสกุลเงินเอเชียด้วยเช่นกัน
ในวันศุกร์ (18 ต.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.04 เทียบกับระดับ 31.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (11 ต.ค.)