พร้อมมอบหมายให้ สำนักงาน กสทช.เร่งสรุปบริษัทที่จะผลิตและนำเข้ากล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล(Set Top Box)ที่จะนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย เพื่อนำมาเสนอที่ประชุม กสท.ในการประชุมครั้งถัดไปวันที่ 28 ตุลาคมนี้ เพื่ออนุมัติจำนวนบริษัทที่จะมีสิทธิ์จำหน่ายและนำเข้ากล่องรับสัญญาณ โดยล่าสุดมี 6-8 บริษัทที่เสนอผลิตจำหน่ายและนำเข้าเป็นกล่องรับสัญญาณจำนวน 10 รุ่นเข้ามาให้พิจารณา
และในวันนี้ กสทช.ได้เปิดชี้แจงผู้ประกอบการที่ซื้อซองประมูลทีวีดิจิทัล เพื่อให้ข้อมูล เอกสาร สร้างความเข้าใจต่างๆ และรับฟังความชัดเจนเรื่องราคาค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล ความน่าเชื่อ คุณภาพการให้บริการ และการครอบคลุมพื้นที่โครงข่ายบริการ โดยมีผู้ให้บริการโครงข่ายที่เข้าร่วม ได้แก่ กรมประชาสัมพันธ์, MCOT, ไทยพีบีเอส และกองทัพบก
นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) กล่าวว่า จากที่ กสทช.ได้กำหนดให้ดำเนินการติดตั้งโครงข่ายให้เสร็จสิ้นภายใน 4 ปี ทางไทยพีบีเอสจะสามารถดำเนินการได้เร็วกว่ากำหนด คือภายใน 3 ปี เนื่องจากมีพื้นที่ในการเข้าไปปรับเสาที่เป็นพื้นที่ส่วนตัวอยู่แล้ว ไม่ต้องลงทุนหาซื้อที่เพิ่มเติม ส่วนงบลงทุนด้านโครงข่ายคาดว่าจะอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากการให้เช่าโครงข่ายปีแรกคาดว่าจะอยู่ที่ 100-200 ล้านบาท
"จุดแข็งของเรา คือ เรามีความพร้อมในพื้นที่ให้บริการที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งเราสามารถเปลี่ยนผ่านสู้ระบบดิจิตอลได้แบบไร้รอยต่อ รวมถึงเราเป็นภาระต่อครัวเรือนน้อยที่สุด เนื่องจากเรามีต้นทุนที่ต่ำที่สุด ซึ่งทำให้เราสามารถดำเนินการได้เร็วกว่าที่ กสทช.กำหนดแน่นอน"นายสมชัย กล่าว
ส่วนนายประวิน พัฒนะพงษ์ รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานในระยะเวลา 3 ปีของกรมฯว่า ในปีแรกจะมีสถานีหลัก 15 สถานี ปีที่ 2 เพิ่มอีก 24 สถานี และปีที่ 3 จะครอบคลุมทั่วประเทศ 39 สถานี รวมทั้งจะมีสถานีเสริมทั้งหมด 114 สถานีทั่วประเทศ จุดแข็งคือ มีความพร้อมและความมั่นคงในการให้บริการโดยไม่มีจุดบอด ซึ่งมีศูนย์บริการโครงข่ายทั่วประเทศทั้งหมด 8 เขต
ทั้งนี้ กรมฯ จะใช้งบลงทุนโครงข่ายราว 3,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้มีการเสนอแผนของงบประมาณที่เป็นรายจ่ายประจำปีต่อสภาฯไปแล้ว ในปีแรกได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวน 900 ล้านบาท ปีถัดไปจะขออีกจำนวน 1,500 ล้านบาท และปีที่ 3 จำนวน 600 ล้านบาท ส่วนรายได้จากค่าเช่าโครงข่าย 25% จะต้องส่งคืนภาครัฐ และที่เหลือจากนี้จะนำมาใช้ในการบริหารงานต่อไป
และพลตรีบุญฤทธิ์ วิสมล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและแผน สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก(ททบ.5) กล่าวว่า ททบ.5 ใช้งบลงทุนประมาณ 2พันล้านบาทในการลงทุนโครงข่ายทีวีดิจิตอล 2 โครงข่าย หรือลงทุน 1 พันล้านบาทต่อ 1 โครงข่าย ซึ่งมีสถานีหลัก 39 สถานีใช้ร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์ และไทยพีบีเอส ขณะที่มีสถานีเสริม 116 สถานี โดยจะดำเนินการคลอบคลุม 68% ของประชากรในปีแรกหรือในปี 57 เน้นเมืองหลักก่อน จากนั้นในปี 58 จะครอบคลุม 97% และในปีที่ 3 จะครอบคลุม 99.98% ถือเป็นจุดแข็งของททบ.5 ที่สามารถครอบคลุมได้ทั่วถึงได้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ ททบ.5 จะให้บริการทั้งช่องรายการธุรกิจ(24ช่อง) และ ช่องรายการสาธารณะ(24 ช่อง) โดยปีแรกจะยังไม่ได้เก็บรายได้เต็มที่ และททบ.5 พร้อมทำสัญญาเช่า 3 ปี, 5 ปี, 10 ปี และ 15 ปี โดยจะมีการปรับค่าเช่าทุกๆ 3 ปี
ขณะที่ด้านผู้ใช้บริการนั้น นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น(NBC) เปิดเผยว่า บริษัทสนใจจะเจรจาขอเช่าใช้โครงข่ายทีวีดิจิตอลจากทาง Thai PBS และ MCOT เนื่องจากเห็นว่า Thai PBS มีความพร้อมในระบบออกอากาศ และเป็นเจ้าของเสาโครงข่าย ส่วน MCOT เป็นการมองถึงแผนดำเนินการที่จะสามารถขยายเสาโครงข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศได้ภายในระยะเวลา 2 ปี ประกอบกับยังมีสื่อโฆษณานอกเหนือจากทีวีที่เป็นสื่อหลัก
นางสาวจิตรลดา เฮงยศมาก ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโสสายงานกฏหมาย บมจ.จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ (GRAMMY) กล่าวว่า ราคาค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิตอลของทั้ง 4 รายเกาะกลุ่มกัน ไม่ได้แตกต่างกันมาก และทั้ง 4 รายก็ไม่สามารถขี้แจงที่มาของการคำนวณราคาค่าเช่าโครงข่ายว่ามาจากปัจจัยใดบ้าง
อย่างไรก็ตาม การนำเสนอของทั้ง 4 รายในวันนี้เป็นราคาตั้งต้นในการยื่นราคาประมูล และคาดว่าจะได้รับส่วนลดหากทำสัญญาระยะยาว เพราะเจ้าของโครงข่ายต้องไม่คิดค่าเบ่าเกินกว่ากรอบที่เสนอมา
"ราคาโครงข่ายเป็นตัวตั้งต้น แต่คุณภาพโครงข่ายก็แล้วแต่คนมอง...เราก็จะต้องเอาไปคิดเรื่องประมูล"นางสาวจิตรลดา กล่าว