จากการศึกษาความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคต พบว่าคงจะไม่เพิ่มขึ้นมากจากแผนพีดีพีปัจจุบัน แม้รัฐบาลจะมีนโยบายลงทุนในโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค มูลค่า 2 ล้านล้านบาท ที่จะมีการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง ซึ่งมีความต้องการใช้ไฟฟ้าถึง 4,800 เมกะวัตต์ แต่ภาวะเศรษฐกิจไม่ได้ขยายตัวสูงขึ้นมากนัก ประกอบกับ กระทรวงพลังงานได้ทำการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และลดการใช้พลังงานในภาพรวม จึงทำให้กรอบการใช้ไฟฟ้าโดยรวมไม่ได้เพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงคาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าเมื่อสิ้นสุดแผนพีดีพีในปี 73 จะอยู่ที่ประมาณ 70,000 เมกะวัตต์ใกล้เคียงแผนปัจจุบัน
อนึ่ง ตามแผนพีดีพีปัจจุบันกำลังผลิตไฟฟ้าจะเพิ่มจากปัจจุบัน 32,000 เมกะวัตต์ เป็น 70,847 เมกะวัตต์ ในปี 73 โดยต้องมีกำลังผลิตใหม่เข้ามา ทั้งเกิดจากความต้องการใหม่ และทดแทนโรงไฟฟ้าที่หมดอายุ รวม 55,065 เมกะวัตต์ แยกเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซฯ 25,451 เมกะวัตต์ ถ่านหิน 4,400 เมกะวัตต์ นิวเคลียร์ 2,000 เมกะวัตต์ รับซื้อไฟฟ้าต่างประเทศ 6,572 เมกะวัตต์ พลังงานทดแทน 9,516 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น 6,374 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ 750 เมกะวัตต์
สำหรับแนวทางการปรับปรุงแผนพีดีพีนั้น สนพ.จะคำนึงถึงทางเลือกการใช้เชื้อเพลิงประเภทต่างๆ ราคาค่าไฟฟ้า และการลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยเสนอทางเลือกตั้งเป็นสมมติฐาน 3 กรณี คือ กรณีที่ 1 ไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในช่วงปลายๆ ของแผน เนื่องจากโรงไฟฟ้าที่อยู่ในช่วงปลายของแผนพีดีพีเดิมเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)ทั้งหมด ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าในอนาคตจะสูงขึ้น โดยจะเพิ่มการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินสะอาด และเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ จากปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 15% ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลง หรือค่าไฟฟ้าไม่เกิน 4.50 บาท/หน่วย ซึ่งแนวทางนี้จะลดการใช้ก๊าซฯ ผลิตไฟฟ้าเมื่อสิ้นสุดแผนลงให้น้อยกว่า 56% ตามแผนพีดีพีเดิม และจะทำให้ บมจ.ปตท.(PTT)นำเข้าแอลเอ็นจีลดลง
กรณีที่ 2 จะเพิ่มสัดส่วนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด เพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ และเพิ่มการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน เพื่อทดแทนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จะถูกยกออกจากแผนไป จำนวน 2,000 เมกะวัตต์ แต่จะไม่ใช้แอลเอ็นจีในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ อาจจะมีการส่งเสริมให้ซื้อไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์มากขึ้น จากปัจจุบันที่จะรับซื้อ 3,000 เมกะวัตต์ แต่คาดว่าค่าไฟฟ้าอาจต้องเพิ่มกว่า 4.50 บาทต่อหน่วย
และ กรณีที่ 3 หากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด เช่น จังหวัดกระบี่ก่อสร้างไม่ได้ตามแผนเดิม จะต้องมีการเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าต่างประเทศมากขึ้น หรือเปิดให้มีการประมูลในโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ประกอบการเอกชนรายใหญ่(IPP) รวมทั้งเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน แต่กรณีนี้จะมีปัญหาในเรื่องของค่าไฟฟ้าที่อาจจะสูงขึ้นอีก และการเปิดให้เอกชนเข้ามาผลิตไฟฟ้าแทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็ยังมีความเสี่ยงไม่สามารถสร้างโครงการได้ เพราะในปัจจุบันมีโครงการของเอกชนหลายโครงการที่ยังไม่สามารถก่อสร้างได้ เนื่องจากมีการต่อต้านจากชุมชน
นอกจากนี้ สนพ.จะเร่งดำเนินการเรื่องการส่งเสริมให้ประชาชน และพ่อค้า แม่ค้า หาบเร่ แผงลอย ที่ได้รับสิทธิซื้อก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)ในราคาเดิมที่ 18.13 บาท/กิโลกรัม มาขึ้นทะเบียนใช้สิทธิมากขึ้น เนื่องรัฐบาลมีนโยบายการปรับราคา LPG ภาคครัวเรือน เดือนละ 50 สต./กิโลกรัม เริ่มตั้งแต่ 1 ก.ย.56 ไปจนถึง 6 บาท/กิโลกรัม เป็นเวลา 12 เดือน โดยจะหารือร่วมกับกรมธุรกิจพลังงานในเร็วๆ นี้ถึงแนวทางในการแก้ปัญหา เพื่อให้ประชาชนเข้ามาใช้สิทธิมากขึ้น จากปัจจุบันมีผู้มาใช้สิทธิประมาณ 50,000 ราย จากทั้งหมด 7.7 ล้านราย
สำหรับการปรับขึ้นราคา LPG เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และเป็นการเตรียมพร้อมการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน( AEC) เพื่อไม่ให้มีผลกระทบจากการอุดหนุนราคาพลังงาน
นอกจากนี้ สนพ.จะเร่งส่งเสริมการเชื่อมโยงพลังงานไทยไปสู่อาเซียน ทั้งการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า และการส่งออกเอทานอล และจะเร่งส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น เช่น เอทานอล และไบโอดีเซล