ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบในด้านต้นทุนค่าแรงงานสูงขึ้นส่งผลให้ได้กำไรน้อยลงและมีการแข่งขันทางธุรกิจมากขึ้นคิดเป็นร้อยละ 69.1 โดยส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบในระดับปานกลางคิดเป็นร้อยละ 37.3 แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถปรับตัวได้ คิดเป็นร้อยละ 96.1 ซึ่งการปรับตัวของผู้ประกอบการ มีร้อยละ 33.7 จะยังคงไม่ลดจำนวนลูกจ้างลง ณ ตอนนี้ แต่มีถึงร้อยละ 26.3 ที่มีแผนจะปรับลดเฉพาะลูกจ้างคนไทย มีเพียงร้อยละ 2.1 เท่านั้นที่จะปรับลดเฉพาะลูกจ้างต่างด้าว และร้อยละ 1.4 จะปรัดลดแรงงานทุกสัญชาติ และที่เหลือร้อยละ 36.4 ได้ปรับตัวการดำเนินงานในด้านอื่นๆ เช่น ลดต้นทุนที่ไม่ใช่ค่าแรง ปรับขึ้นราคา จ้างแบบเหมาชิ้น ใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีทดแทนแรงงาน เป็นต้น
นอกจากนั้นผลการสำรวจพบอีกว่าภาคการผลิตได้รับผลกระทบสูงกว่าสาขาอื่นๆเนื่องจากต้องใช้แรงงานจำนวนมาก โดยมีร้อยละ 84.6 ของผู้ประกอบการภาคการผลิต ที่ระบุว่าต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นจากต้นปี ขณะที่ภาคการค้ามีร้อยละ 73.1 และภาคบริการอื่นๆ มีร้อยละ 71.0 ในส่วนของกำไรสุทธิ พบว่าภาคการผลิตมีร้อยละ 54.1 ระบุว่ามีกำไรสุทธิลดลง ขณะที่ภาคการค้ามีร้อยละ 52.2 และภาคบริการอื่นๆ มีเพียงร้อยละ 7.5 ที่ระบุว่ากำไรสุทธิลดลง
สำหรับมาตรการที่ผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลส่งเสริมช่วยเหลือหรือสนับสนุนจากผลกระทบนโยบายค่าแรง 300 บาทพบว่าส่วนใหญ่ต้องการให้ช่วยเหลือเกี่ยวกับมาตรการด้านภาษีคิดเป็นร้อยละ 26.1 รองลงมาคือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนและลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คิดเป็นร้อยละ 20.1 ส่งเสริมการตลาดคิดเป็นร้อยละ 20.0 การจ่ายเงินชดเชยค่าใช้จ่ายในส่วนที่เป็นต้นทุนการผลิตให้แก่สถานประกอบกิจการคิดเป็นร้อยละ 8.4 การเพิ่มผลผลิตของสถานประกอบกิจการและการเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน (พัฒนาฝีมือแรงงาน) คิดเป็นร้อยละ 6.2 การผ่อนคลายกฎเกณฑ์การจ้างแรงงานต่างด้าวคิดเป็นร้อยละ5.3 การช่วยจัดหาแรงงานคิดเป็นร้อยละ 5.2 และมาตรการอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 2.3 ตามลำดับ
การสำรวจนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบและแนวโน้มการปรับตัวต่อนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ของผู้ประกอบการ SMEsในภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 5 สิงหาคม — 6 กันยายน 2556 จากผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 670 ราย ในเขตพื้นที่ 4 จังหวัดใหญ่ในภาคอีสาน ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และอุบลราชธานี