รัฐเตรียมเซ็น MOU ดึง SMEs ญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 24, 2013 12:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) เตรียมลงนามในบันทึกความเข้าใจ(MOU) กับหน่วยงานราชการและสถาบันการเงินจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) เหล็ก ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ ในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

"ในวันที่ 25 ตุลาคม 2556 กระทรวงอุตสาหกรรมและบีโอไอจะลงนามในเอ็มโอยูกับหน่วยงานราชการและสถาบันการเงินจากประเทศญี่ปุ่นจำนวน 2 ฉบับ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่น โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีในประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยมีนายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ Mr.Shigekazu SATO เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยร่วมเป็นสักขีพยาน" นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการ BOI กล่าว

โดยบันทึกความเข้าใจฉบับแรก เป็นการลงนามระหว่างอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กับผู้ว่าราชการจังหวัดอะคิตะ (Akita) ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของญี่ปุ่น มีความโดดเด่นและแข็งแกร่งด้านอุตสาหกรรมที่สำคัญ อาทิ การผลิตส่วนประกอบหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร อาหาร ผลิตภัณฑ์จากไม้หรือป่าไม้ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น โดยทั้ง 2 หน่วยงานจะมุ่งเน้นส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง SMEs ของทั้งสองประเทศให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยจังหวัดอะคิตะพร้อมช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ SMEs ไทยขยายธุรกิจในระดับสากล

ส่วนบันทึกความเข้าใจฉบับที่ 2 เป็นความร่วมมือระหว่างบีโอไอกับบริษัท Fidea Holdings ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัททางการเงิน มีเครือข่ายเป็นธนาคารท้องถิ่นของญี่ปุ่น 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคาร Hokuto ปัจจุบันมีสาขาให้บริการ 82 แห่ง และธนาคาร Shonai มีสาขากระจาย 80 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่น ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ และเป็นกลุ่มเป้าหมายของการส่งเสริมให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ เป็นต้น ทั้งนี้บริษัทมีแผนจะใช้ไทยเป็นศูนย์กลางของการเชื่อมโยงการให้บริการด้านการเงินแก่ลูกค้าของบริษัทที่เข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนที่คาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นในอนาคต

นายอุดม กล่าวว่า ความร่วมมือกันจากข้อตกลงทั้ง 2 ฉบับ ครอบคลุมในด้านของการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจเพื่อกระตุ้นการลงทุนทางตรงระหว่างกัน การช่วยเหลือและประสานงานการจัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน ตลอดจนการส่งเสริมให้มีการสำรวจลู่ทางและโอกาสด้านการลงทุนร่วมกันให้มีแนวทางและรูปแบบที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

"ปัจจุบันหน่วยงานรัฐและสถาบันการเงินญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการดูแลนักลงทุนที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมและบีโอไอได้ลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานและสถาบันการเงินจากญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ในการดูแลการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศอย่างต่อเนื่อง แต่การลงนามของบีโอไอกับบริษัท Fidea Holdings จะเป็นครั้งแรกที่บีโอไอจัดทำกับบริษัทที่เป็นเครือข่าย โดยมั่นใจว่าเป็นช่องทางสำคัญช่วยให้บีโอไอได้เผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในด้านการส่งเสริมการลงทุนและศักยภาพของประเทศไทยไปยังกลุ่มลูกค้าของธนาคารที่อยู่ในเครือข่ายได้ตรงกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากตามไปด้วย และนำไปสู่การตัดสินใจเข้ามาลงทุนในอนาคตเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน" นายอุดม กล่าว

สำหรับช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา(ม.ค.-ก.ย.56) การยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นคิดเป็นร้อยละ 60.3 ของการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมด โดยการลงทุนจากญี่ปุ่นมีจำนวน 448 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 211,350 ล้านบาท อุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจเข้ามาลงทุนสูงสุดอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เหล็ก เครื่องจักรและอุปกรณ์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ กระดาษ และบริการ ตามลำดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ