ดังนั้น เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงของจำนวนเรือประมง และจำนวนชาวประมง ทางกรมประมงจึงได้เสนอแนวทางว่าจะขึ้นทะเบียนชาวประมงทั้งหมดเพื่อให้ทราบจำนวนชาวประมงที่แท้จริงว่ามีอยู่จำนวนเท่าไหร่มีการขออนุญาตอย่างถูกต้องหรือไม่ เพื่อจัดทำกระบวนการใช้ทรัพยากรประมงในประเทศ ก่อนที่ทรัพยากรประมงจะหมดไป เนื่องจากขณะนี้พบว่ามีการใช้เครื่องมือทำการประมงซึ่งมีอยู่หลายประเภทอย่างไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะมีการจัดสัตว์น้ำขนาดเล็กมาบริโภคเพิ่มมากขึ้น เช่น ปลากระตัก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหารของสัตว์น้ำชนิดหนึ่งที่พบว่ามีการลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว
สำหรับขั้นตอนกระบวนการขึ้นทะเบียนชาวประมงนั้น ได้มอบหมายให้กรมประมงเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับขึ้นทะเบียนชาวประมง และประสานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใน 22 จังหวัดที่เป็นพื้นที่หลักในการทำประมงของประเทศ แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทะเบียนชาวประมงระดับจังหวัด เพื่อไปสู่กระบวนการเร่งรัดดำเนินการจัดระบบการทำประมงใหม่ทั้งระบบ โดยไม่ทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำ และเป็นไปตามข้อกำหนดการประมงระหว่างประเทศ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมงจะประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมเจ้าท่า กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมกันตรวจสอบเรือประมงทั้งหมด โดยใช้กฎหมายของแต่ละหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบ ทั้งในเรื่องใบอนุญาตเรือประมง แรงงานที่ใช้ในภาคประมง โดยกำหนดกรอบระยะเวลาให้แล้วเสร็จอย่างช้าภายใน 3 ปี