"ไทยชูการ์ฯ"หวั่นราคาน้ำตาลในปท.ต่ำกว่าเพื่อนบ้านทำวุ่นหากเปิด AEC

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 24, 2013 15:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เปิดเผยว่า จากการสำรวจพบว่า ราคาขายปลีกน้ำตาลทรายของไทยต่ำที่สุด ทำให้มีความกังวลว่า หากเข้าสู่ประชาคมอาเซียน(AEC) ซึ่งมีความเสรีในการติดต่อค้าขายกันมากขึ้น หากไทยยังไม่ปรับเปลี่ยนนโยบายในเรื่องนี้ ปัญหาการลักลอบนำน้ำตาลทรายในประเทศไปขายต่างประเทศจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น อันจะส่งผลต่อปริมาณน้ำตาลทรายที่กันโควตา ก. ไว้สำหรับบริโภคภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการ

“ถึงแม้ว่า น้ำตาลทรายที่เราผลิตได้จริงจะมีมากเพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ เพราะเราเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่ของโลก แต่เราแบ่งโควตาไว้ชัดเจนระหว่างการบริโภคในประเทศกับส่งออกไปขายต่างประเทศ ซึ่งโควตาส่งออกนั้นเกือบทั้งหมดเป็นการขายล่วงหน้า ดังนั้น หากยังคงกำหนดโควตา ก. เพื่อกันไว้สำหรับบริโภคในประเทศ แต่กลับถูกนำส่วนนี้ออกไปขายต่างประเทศด้วย ก็จะส่งผลต่อผู้บริโภคในประเทศ" นายสิริวุทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ ทีมงานของ ไทยชูการ์ มิลเลอร์ ได้สำรวจข้อมูลราคาน้ำตาลทรายในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเน้นกลุ่มประเทศอาเซียน โดยใช้ข้อมูลจากสำนักงานการค้าในประเทศต่างๆ ประกอบกับข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และเทรดเดอร์น้ำตาลทรายรายใหญ่ของโลก โดยเทียบเป็นสกุลเงินบาท พบว่า น้ำตาลทรายของไทยมีราคาขายปลีกต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน

โดยน้ำตาลทรายขาวมีราคาขายปลีกต่อกิโลกรัม อยู่ที่ 22.60 บาท น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กิโลกรัมละ 23.60 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศลาวและกัมพูชา มีราคาขายปลีกน้ำตาลทรายขาว 30-33 บาทต่อกิโลกรัม พม่าขายปลีกที่กิโลกรัมละ 30.01 บาท เวียดนาม 25.50-28.50 บาท มาเลเซีย 25.87 บาท อินโดนีเซียขายปลีกน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์กิโลกรัมละ 33.95 บาท สิงคโปร์ 40.35 บาท ฟิลิปปินส์ 41.20 บาท

นอกจากนี้ ประเทศที่ต้องบริโภคน้ำตาลทรายในราคาสูงกว่าไทย ได้แก่ ประเทศจีน ราคาขายปลีกน้ำตาลทรายในเกรดต่างๆ มีตั้งแต่กิโลกรัมละ 57.09 บาท ไปจนถึง 77.85 บาท ญี่ปุ่น กก.ละ 66.90 บาท เกาหลีใต้ 49.50 บาท ออสเตรเลีย 59.75 บาท

นายสิริวุทธิ์ กล่าวว่า การนำเสนอข้อมูลเรื่องนี้ให้สังคมได้รับรู้ ก็เพื่อให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาครัฐที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ ได้เร่งหาทางป้องกันปัญหาแต่เนิ่นๆ โดยมีหลักคิดอยู่ว่า ทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดการขาดแคลนของน้ำตาลทรายที่ใช้บริโภคภายในประเทศ และผลตอบแทนที่ชาวไร่อ้อยจะได้รับในสัดส่วน 70% ของรายได้จากการขายน้ำตาลทราย จะต้องคุ้มค่ากับต้นทุนด้านการเพาะปลูก และมีกำไรส่วนต่างที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อให้อาชีพชาวไร่อ้อยเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ