ก.พลังงาน ให้ PTT เร่งศึกษาสร้างคลัง LNG เฟส 3-เตรียมแผนรับมือพม่าหยุดจ่ายก๊าซ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 24, 2013 16:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงแผนการจัดหาพลังงานเพื่อสร้างความมั่นคงของประเทศมากขึ้นว่า ได้มอบหมายให้ บมจ. ปตท. (PTT) ไปเร่งสรุปหาพื้นที่ในการก่อสร้างคลังรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในระยะที่ 3 ที่จะมีกำลังการรับ-จ่ายแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้นอีก 5 ล้านตัน เมื่อรวมกับระยะที่ 1 จำนวน 5 ล้านตัน ซึ่งดำเนินการอยู่ในขณะนี้ และระยะที่ 2 อีก 5 ล้านตัน ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้าง จะทำให้มีกำลังการรับ-จ่ายก๊าซรวม 15 ล้านตัน ซึ่งจะต้องมีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ใช้เวลากว่า 2 ปี จึงต้องเร่งดำเนินการในขณะนี้

เบื้องต้น ปตท.แจ้งว่าต้องการสร้างในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง เดิม เพื่อที่จะทำให้การขนถ่ายเชื่อมโยงกัน และก่อสร้างได้เร็วขึ้น แต่จากการหารือกับกองทัพเรือ มีความเป็นห่วงในเรื่องของความมั่นคงของประเทศทางด้านพลังงาน หากจัดสร้างอยู่ในที่เดียวกันทั้งหมด หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ และมีการก่อการร้ายก็จะทำให้เป็นจุดเสี่ยงที่จะทำให้สำรองทางพลังงานหายไปทั้งหมด ก็จะส่งผลกระทบต่อประเทศ จึงควรจัดหาพื้นที่อื่นๆ ในการก่อสร้างต่อไป

อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างคลังรับ-จ่ายแอลเอ็นจี มีการลงทุนสูง เนื่องจากจะต้องก่อสร้างคลังใหม่ มีการสร้างท่อเรือ มีการจัดหากองเรือขนส่งแอลเอ็นจี จึงเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันนี้

นอกจากนี้ ได้เร่งให้ ปตท.จัดหาแอลเอ็นจีที่เป็นสัญญาระยะยาวเพิ่มขึ้น จากปัจจุบัน ปตท.มีสัญญาระยะยาวในการซื้อขายแอลเอ็นจีจากประเทศกาต้าร์ 2 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะเริ่มรับก๊าซในปี 2558 เป็นต้นไป ในขณะที่ความต้องการใช้ก๊าซในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าในการปรับแผนพีดีพีใหม่ ซึ่งอาจจะมีการลดการใช้ก๊าซในการผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ลง ทำให้สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงก๊าซในการผลิตไฟฟ้าน้อยลง แต่ปริมาณการใช้ก็ยังมีมากอยู่ดี โดยประมาณการณ์ว่าอาจจะต้องนำเข้าแอลเอ็นจี ประมาณ 20 ล้านตัน

นายสุเทพ กล่าวถึงการดูแลการหยุดซ่อมส่งท่อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเยตากุน ในสหภาพเมียนมาร์ มาประเทศไทย ระหว่าง 25 ธ.ค.56 - 8 ม.ค. 57 ที่จะต้องไม่ส่งผลกระทบให้เกิดไฟฟ้าดับซ้ำรอยไฟฟ้าดับ 14 จังหวัดภาคใต้ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้มาสองครั้งแล้ว เพื่อเตรียมแผนรับมือในการจัดหาเชื้อเพลิงมาทดแทนก๊าซฯ ที่หายไปจากการหยุดซ่อมท่อก๊าซฯ ซึ่งยืนยันว่าจะมีแผนรองรับได้อย่างเพียงพอแน่นอน นอกจากนี้ จะต้องดูว่าการหยุดซ่อมท่อก๊าซฯ ของเมียนมาร์ จะมีการซ่อมในช่วงไหนอีก ซึ่งปกติจะดำเนินการหยุดซ่อมบำรุงทุกปี และในปี 2557 คาดว่าจะมีการหยุดซ่อมท่อก๊าซฯ ในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง แต่เป็นช่วงที่ทะเลมีคลื่นลมสงบ สะดวกแก่การซ่อมบำรุง และทำให้การซ่อมเป็นไปด้วยรวดเร็ว

"กระทรวงพลังงานมีนโยบายให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้านพลังงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตการณ์ความไม่มั่นคงทางด้านพลังงานเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าถึง 70%" นายสุเทพ กล่าว

สำหรับนโยบายอื่นๆ ที่จะต้องดำเนินการ คือ การส่งเสริมการประหยัดพลังงาน การปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) รวมถึงการทำราคาน้ำมันหน้าคลังน้ำมันให้เป็นราคาเดียวทั่วประเทศ เพื่อให้ราคาน้ำมันในต่างจังหวัดใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งปัจจุบันยังสูงกว่า เนื่องจากต้องมีการบวกค่าขนส่งตามระยะทาง โดยจะมีการวางยุทธศาสตร์ท่อน้ำมันและคลังน้ำมันไปยังภาคเหนือ สิ้นสุดที่จังหวัดพิษณุโลก หรือลำปาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สิ้นสุดที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งกรมธุรกิจพลังงานกำลังศึกษาแนวทางการลงทุนให้แล้วเสร็จภายในปี 2557

ส่วนยุทธศาสตร์การเพิ่มอัตราสำรองน้ำมันตามกฎหมายของภาคเอกชน จากเดิม 5% เป็น 6% โดยมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 นี้ ทางสมาคมโรงกลั่นน้ำมัน ได้เข้ามาพบและยืนยันความพร้อมในการดำเนินการ โดยได้มีการประสานให้มีการตั้งคณะทำงานในการแก้ไขกฎหมายให้มีความทันสมัย เพื่อให้ระยะเวลาการสำรองน้ำมันจากเดิม 35 วัน เป็น 90 วัน สำหรับค่าใช้จ่ายของภาคเอกชนจะมีเพียงค่าสต๊อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่การเตรียมคลังน้ำมัน และโครงสร้างพื้นฐาน ขณะนี้เรียบร้อยแล้ว

ด้านการส่งเสริมพลังงานทดแทน จะมีการส่งเสริมโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar rooftop) และด้านการใช้พลังงานอย่างประหยัด ซึ่งจะใช้งบประมาณปี 2557 กว่า 6-7 พันล้านบาท ผ่านกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่จะมีการประชุมในปลายเดือนนี้ เพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ