โดยขอความร่วมมือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายโซนนิ่งระดับจังหวัด เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายภายในระยะเวลา 2-3 เดือนนี้ โดยเฉพาะการให้ความรู้และทำความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวมาเป็นอ้อยที่สร้างรายได้สูงกว่าหลายเท่า
ในส่วนของมาตรการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกอ้อยนั้น นอกจากการดำเนินการภายใต้พ.ร.บ.อ้อยน้ำตาล และโรงงานอ้อยน้ำตาลก็จะยังคงให้ช่วยเหลือเงินลงทุนบางส่วนหรือเรียกว่าเงินเกี๊ยว เช่น ค่าต้นพันธุ์ ค่าปรับเปลี่ยนพื้นที่ เฉลี่ยไร่ 8,000 บาท ซึ่งถือว่ายังเป็นไปตามกลไกเดิมที่โรงงานให้การสนับสนุนแก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยแล้ว กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมพัฒนาที่ดิน และกรมชลประทานจะเข้าไปสนับสนุนเรื่องแหล่งน้ำขนาดเล็กให้แก่เกษตรกรควบคู่กันไปด้วย และที่สำคัญคือการให้ความรู้ทางด้านวิชาการต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการปรับปรุงพันธุ์อ้อยเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากผลผลิตอ้อยต่อไร่ที่สูง จากปัจจุบันที่เกษตรกรผลิตได้เฉลี่ย 11 กิโลกรัม/ไร่ ไปสู่เป้าหมาย 15 กิโลกรัมต่อไร่
สำหรับพื้นที่ที่ได้เริ่มดำเนินการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยของเกษตรกรแล้วนั้น ขณะนี้พบว่า จังหวัดมหาสารคามได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนเป็นอ้อยแล้ว 2 หมื่นไร่ รวมทั้งจังหวัดบุรีรัมย์และกำแพงเพชรก็มีความคืบหน้าดำเนินการในเรื่องนี้แล้วเช่นกัน