กิจกรรมสำคัญครั้งนี้ นักลงทุนไทยจะได้เข้าไปยังรัฐฉานเพื่อสำรวจสภาพเศรษฐกิจ - การค้า ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผลิตผลทางการเกษตรพร้อมเป็นวัตถุดิบสำหรับการแปรรูป และหารือกับบริษัท Mandalay Shweyi Co., Ltd ( Food and Beverage )ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ เพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจระหว่างกัน ขณะที่กิจกรรมสำคัญคือการชมความคืบหน้าโครงการท่าเรือและเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา ที่เป็นแหล่งรองรับการลงทุนใหม่ เพื่อให้นักลงทุนไทยได้เห็นลู่ทางและเห็นโอกาสที่จะใช้เขตเศรษฐกิจพิเศษนี้เป็นแหล่งลงทุนและท่าเรือในการกระจายสินค้า
"สภาพเศรษฐกิจที่เติบโตของเมียนมาร์ ทำให้นักลงทุนหลายประเทศให้ความสำคัญ บีโอไอจึงกำหนดให้เป็นประเทศเป้าหมายเพื่อขยายการลงทุนและสร้างเครือข่ายทางการค้า กิจกรรมครั้งนี้ได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ที่เมียนมาร์มีความต้องการและกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะสินค้าจากไทยที่กำลังติดตลาดได้รับการสนับสนุนที่ดี ขณะที่ติละวาก็เป็นแหล่งทุนใหม่ที่จะมีศักยภาพ หากเข้าไปช้านักลงทุนไทยก็จะเสียโอกาส" น.ส.รัตนวิมล กล่าว
ข้อมูลจาก "ศูนย์ข้อมูลการลงทุนไทยในต่างประเทศ"(Thailand Overseas Investment Centerหรือ TOI Center) พบว่า มีนักธุรกิจไทยที่สนใจ และแจ้งถึงการตัดสินใจเข้าไปลงทุนในประเทศเป้าหมาย ได้แก่ ประเทศเมียนมาร์ อินโดนีเซีย กัมพูชา และเวียดนาม แล้วรวมจำนวน 86 บริษัทจากกิจกรรมสร้างเครือข่ายการลงทุนที่บีโอไอจัดขึ้น และการออกไปเปิดตลาดใหม่ของนักลงทุนเอง
สำหรับสถิติของผู้ประกอบการไทยที่ไปลงทุนในพม่า ตั้งแต่ปี 2550 -2555 พบว่า ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนเป็นอันดับ 1 มูลค่าการลงทุน 5,970 ล้านเหรียญสหรัฐ อันดับ 2 ประเทศสิงคโปร์ มูลค่าการลงทุน 3,708 ล้านเหรียญสหรัฐ และอันดับ 3 ประเทศฮ่องกง มูลค่าการลงทุน 2,639 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยอุตสาหกรรมที่เข้าไปลงทุนส่วนใหญ่คือ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ การขุดเจาะปิโตรเลียม ประมง อาหารทะเล และค้าส่ง ค้าปลีก