(เพิ่มเติม) ธปท.ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 56 เหลือโต 3.7% จากเดิม 4.2%, ปีหน้าโต 4.8%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 25, 2013 15:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แถลงรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือน ต.ค.56 ว่า ธปท.ได้มีการปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ในปี 56 ลงเหลือเติบโตเพียง 3.7% จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 4.2% และปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 57 มาที่ 4.8% จากเดิมคาด 5%

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท.กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ครั้งล่าสุดเห็นว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวต่ำกว่าการประชุมครั้งก่อน เนื่องจากการบริโภคเอกชนชะลอตัวลงต่ำและนานกว่าที่คาดไว้ ประกอบกับ ประชาชนระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย

ขณะที่การเบิกจ่ายภาครัฐน้อยกว่าที่คาด โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบประมาณกลางและงบลงทุน โดยอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณเฉลี่ยในช่วงปี 51-55 รายจ่ายรวมมีอัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ 93% แต่ในปีงบประมาณ 56 ลดลงมาอยู่ที่ 90.5% ส่วนรายจ่ายลงทุนในช่วงปี 51-55 มีอัตราเบิกจ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 74% แต่ในปีงบประมาณ 56 ลดลงเหลือ 67.7%

ส่วนการส่งออกที่อาจจะฟื้นตัวดี แต่สินค้าบางตัวยังมีข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง จึงยังไม่ได้ประโยชน์เต็มที่จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงที่ยังไม่ได้ประโยชน์มากนักจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับไต้หวันและเกาหลีที่ได้รับประโยชน์มากกว่า

อย่างไรก็ตาม ธปท.มองว่าการลงทุนภาคเอกชนปีนี้จะขยายตัวเพิ่มเป็น 3% ซึ่งเป็นดัชนีตัวเดียวที่ปรับมุมมองเพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2% เพราะเริ่มเห็นการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนตั้งแต่ไตรมาส 2/56 ที่มากกว่าคาด ประกอบกับมองไปข้างหน้าภาวะการเงินยังผ่อนคลายค่อนข้างมาก ขณะที่ภาคธุรกิจยังมีความจำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร เพื่อทดแทนแรงงานที่ขาดแคลน ขณะที่ภาวะการเงินยังเอื้อต่อการลงทุน

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า สำหรับภาวะเศรษฐกิจปี 57 มองว่าจะดีกว่าปีนี้ เนื่องจากการส่งออกขยายตัวได้มากขึ้นและมีบทบาทต่อภาพรวมเศรษฐกิจมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวมากขึ้น และการบริโภคที่ชะลอตัวลงหลังจากพักฐานในปีนี้จะทุเลาเบาบางลงในปีหน้า โดยประเมินว่าจะมีการบริโภคสินค้าคงทนมากขึ้น และคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะฟื้นตัวชัดเจนกลางปี 57 ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ

"ขณะนี้มองเศรษฐกิจไทยตกท้องช้าง การบริโภคภาคเอกชนน่าจะฟื้นตัวกลางปีหน้า เพราะยังมีความไม่แน่นอนจากท้องช้างที่ไม่รู้ว่าจะยาวไปอีกแค่ไหน แต่ก็ประเมินว่าการส่งออกระยะต่อไปจะทรงตัว ขณะที่จีดีพีปีนี้ที่คาดไว้ 3.7% ได้สะท้อนการส่งออกที่คาดว่าลดลงมาเหลือโต 1% แล้ว จึงอยู่ในวิสัยที่ทำได้ในปีนี้ และมองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสผงกหัวขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้จนถึงต้นปีหน้า"นายไพบูลย์ กล่าว

ด้านปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยนั้น กนง.มองว่ายังมีความล่าช้าเรื่องการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐที่จะเริ่มขึ้นในปีหน้า อาจะทำให้ GDP ขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ ประกอบกับ การฟื้นตัวของประเทศในกลุ่มจี 3 ที่ยังไม่แน่นอน แม้จะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ก็ยังต่ำกว่าคาด รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐอาจล่าช้าจากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มได้ตั้งแต่ไตรมาส 1/57

รวมถึงปัญหาเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐที่ยังแก้ไขได้ไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด สร้างความไม่แน่นอนต่อตลาดเงินโลก เช่นเดียวกับนโยบายการเงินของสหรัฐที่จะทยอยลดการผ่อนคลายลงก็ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มเมื่อใด ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศผันผวนและสร้างความผันผวนต่ออัตราแลกเปลี่ยนด้วย

นายไพบูลย์ กล่าวถึงคาดการณ์ที่ระบุว่าดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้อาจจะขาดดุลถึง 6.8 พันล้านบาทหรือคิดเป็น 1.8% ของ GDP จากเดิมคาดว่าจะสมดุลหรือเป็นบวกได้เล็กน้อยนั้น เนื่องจากส่วนหนึ่งได้มีการรวมการนำเข้าทองคำ ทำให้ตัวเลขขาดดุลเพิ่มขึ้นมาก แต่หากหักเรื่องทองคำออกไปก็อาจจะมีฐานเป็นบวกได้ราว 1.2% ของ GDP

"เรื่องนี้เป็นข้อเท็จจริงว่าการนำเข้าและส่งออกเป็นการลงทุนเพื่อเก็งกำไรราคาทองคำช่วงที่ราคาทองลดลง คนเข้าไปซื้อมากขึ้นทำให้ดุลบัญชีขาดดุลเพิ่มขึ้น"นายไพบูลย์ กล่าว

ประกอบกับมีปัจจัยพิเศษที่ผู้ประกอบการส่งออกนำผลกำไรกลับเข้ามาสูงในปีนี้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรถยนต์ที่ได้รับอานิสงส์จากนโยบายรถยนต์คันแรก เพราะมีผลประกอบการดี รวมถึงยังมีการนำเงินส่วนหนึ่งกลับเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

ในปี 57 ที่คาดว่าจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้น เพราะเชื่อว่าจะมีการนำเข้ามากขึ้นเพื่อรองรับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ซึงป็นการนำเข้าเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว เป็นเรื่องที่นักลงทุนเข้าใจและยอมรับได้ ไม่ใช่การนำเข้าที่จะก่อให้เกิดปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจ และยืนยันว่าไม่ใช่ผลของการใช้จ่ายเกินตัว หรือการลงทุนที่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจร้อนแรง และถือว่าระดับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดยังไม่มากนักและไม่มีโอกาสเสี่ยง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ