เงินบาทเปิด 31.05/07 แกว่งแคบ กังวลสถานการณ์การเมืองในปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 28, 2013 09:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน กล่าวว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 31.05/07 บาท/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 31.07/09 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับภูมิภาค แต่แนวโน้มแข็งค่าน้อยกว่า เนื่องจากความกังวลเรื่องสถานการณ์การเมืองในประเทศ
"สกุลเงินอื่นในเอเชียค่อนข้างแข็งค่า แต่ของเราอาจมีปัจจัยการเมืองในประเทศที่ทำให้มีแรงซื้ออยู่" นักบริหารเงิน กล่าว

ปัจจัยที่ส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มแข็งค่า เนื่องจากคาดการณ์ว่า สหรัฐอาจขยายเวลามาตรการ QE ออกไปเรื่อยๆ ทำให้ค่าเงินสกุลอื่นกลับมาแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในช่วงก่อนหน้านี้

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ระหว่าง 31.00-31.15 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 97.52/54 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 97.23/25 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.3815/3816 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 1.3794/3797 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างของ ธปท.อยู่ที่ระดับ 31.1580 บาท/ดอลลาร์
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รวบรวมข้อมูลสินเชื่อเงินฝาก และสภาพคล่องธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา โดยพบว่า ภาพรวมสภาพคล่องของธุรกิจธนาคารปรับตัวดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากเงินให้สินเชื่อที่ขยายตัวในอัตราน้อยกว่าผลรวมของเงินฝากกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม ส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อรวมต่อเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม ลดลงมาที่ระดับ 89.76% จาก 89.98% ในเดือนก่อนหน้า
  • กสิกรฯชี้ค่าเงินบาทไทยเดือนตุลาคมผันผวนแรงสุดในรอบ 5 ปี พุ่งขึ้น 8.73% เหตุปมร้อนสหรัฐถกขยายเพดานหนี้สาธารณะ ป่วนค่าเงินอ่อนค่าและแข็งค่ารวดเร็ว ทำให้ดูแลให้สมดุลยาก ระบุไทยติดอันดับ 4 ค่าเงินบาทผันผวนสูงรองจากอินโดนีเซีย อินเดีย และมาเลเซีย ฟากแบงก์ชาติชี้นักลงทุนระยะสั้นเข้าเร็วออกเร็ว เตือนระวังค่าเงินบาทยังหวือหวายาวจนกว่าข่าวสหรัฐจะชัดเจน
  • นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ผู้ส่งออกได้ตั้งเป้าขยายตัวการส่งออกไทยในปี 57 ที่ระดับ 5-7% หลังเริ่มรับรู้ปริมาณคำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) จากต่างประเทศล่วงหน้าถึงครึ่งปีแรกของปี 57 (ม.ค.-มิ.ย.) ที่เข้ามาในปริมาณมากกว่าปีก่อน เนื่องจากลูกค้าให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจในหลายประเทศ เช่น ยุโรป, สหรัฐ, จีน, ญี่ปุ่น เริ่มมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคการบริโภค จึงเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการไทยอย่างมาก
  • ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์(25 ต.ค.) ขณะที่ดัชนี S&P 500 พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากการรายงานผลประกอบการที่สดใสของภาคเอกชน โดยดัชนี DJIA ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดที่ 15,570.28 จุด เพิ่มขึ้น 61.07 จุด, ดัชนี NASDAQ ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดที่ 3,943.36 จุด เพิ่มขึ้น 14.40 จุด, ดัชนี S&P500 ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดที่ 1,759.77 จุด เพิ่มขึ้น 7.70 จุด
  • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส(WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์ ขานรับสต็อกภาคค้าส่งของสหรัฐที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 3 เดือนในเดือน ก.ย. โดยสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ธ.ค.เพิ่มขึ้น 74 เซนต์ ปิดที่ 97.85 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนธ.ค.ที่ตลาดลอนดอนลดลง 6 เซนต์ ปิดที่ 106.93 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดดีดตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์ ทำสถิติปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันนานเกือบ 3 สัปดาห์ โดยสัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน ธ.ค.เพิ่มขึ้น 2.2 ดอลลาร์ หรือ 0.16% ปิดที่ 1,352.5 ดอลลาร์/ออนซ์ ส่วนสัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือน ธ.ค.ปิดที่ 22.639 ดอลลาร์/ออนซ์ ลดลง 18.3 เซนต์ สัญญาโลหะทองแดงส่งมอบเดือน ธ.ค.เพิ่มขึ้น 0.55 เซนต์ ปิดที่ 3.2690 ดอลลาร์/ปอนด์ สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือน ม.ค.ปิดที่ 1,455.50 ดอลลาร์/ออนซ์ ลดลง 70 เซนต์ และสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือน ธ.ค.ปิดที่ 747.90 ดอลลาร์/ออนซ์ เพิ่มขึ้น 10 เซนต์
  • เงินสกุลยูโรพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ หลังดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมนีปรับตัวลดลงอย่างเหนือคาดหมายเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน โดยยูโรปรับตัวขึ้น 0.03% แตะที่ 1.3803 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.3799 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปอนด์ลดลง 0.17% แตะที่ 1.6172 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.6200 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ดอลลาร์เพิ่มขึ้น 0.11% เมื่อเทียบเยน แตะที่ 97.380 เยน จากระดับ 97.270 เยน และเพิ่มขึ้น 0.09% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิส แตะที่ระดับ 0.8930 ฟรังค์ จากระดับ 0.8922 ฟรังค์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ