แต่จากการที่กรมสรรพสามิตได้ขอความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ให้ช่วยตรวจสอบวัตถุดิบที่เป็นส่วนผสมในเครื่องดื่มชาเขียวที่วางจำหน่ายในท้องตลาดโดยทั่วไปแล้ว กลับพบว่าชาเชียวสำเร็จรูปส่วนใหญ่จะมีส่วนผสมของใบชาเขียวในปริมาณที่น้อยมาก ซึ่งต่างจากที่ผู้ประกอบการเคยนำมาใช้เป็นเหตุผลเพื่อขอยกเว้นการเก็บภาษีสรรพสามิตเพราะอ้างว่าต้องการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกชาในประเทศ
ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงเตรียมพิจารณาจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในสินค้าเครื่องดื่มชาเขียวสำเร็จรูปในเร็วๆ นี้ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มได้ภายในปีงบประมาณ 57 ซึ่งในขั้นตอนการดำเนินการสามารถออกเป็นประกาศจากอธิบดีกรมสรรพสามิตก็จะมีผลบังคับใช้ได้แล้ว
"ที่เราศึกษาไว้ ตามหลักจะมีเกณฑ์ว่า ชาเขียวที่เรายกเว้นภาษีให้เพราะช่วยเหลือเกษตรกร แต่พอเรามาดูส่วนผสมของชาเขียวที่นำมาใช้ผลิต พบว่ามีเปอร์เซ็นต์น้อยมาก เราส่งให้ อย.ดูแล้วพิสูจน์แล้วว่ามันมีส่วนผสมของชาน้อยมาก ดังนั้นความจำเป็นที่ผู้ประกอบการอ้างว่าจะช่วยเหลือเกษตรกรอาจฟังไม่ขึ้น ตอบสังคมไม่ได้" นายรังสรรค์ กล่าวว่า
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังจะพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีประเภทอื่นด้วย เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) เนื่องจากเห็นว่ายังมีความจำเป็นจะต้องปรับเพิ่มขึ้น จากที่จัดเก็บในปัจจุบัน 7% ซึ่งหากปรับเพิ่มขึ้น 1% จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 50,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดีจะต้องพิจารณาช่วงเวลาให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งจำเป็นต้องหารือกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญต้องขึ้นกับนโยบายรัฐบาลด้วย
ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังจะเข้าไปดูการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสิ่งแวดล้อม และภาษีสรรพสามิตสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยจะเข้าไปพิจารณาพร้อมกันและจะพยายามหาข้อสรุปให้ได้ภายในปีงบประมาณ 57
ส่วนการปรับขึ้นสรรพสามิตน้ำมันดีเซลนั้น ขณะนี้ยังไม่มีแนวคิดจะปรับเพิ่ม เนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชน