นายกฯ แนะอาเซียนเร่งสร้างความแข็งแกร่ง เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน ลดผลกระทบศก.โลก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 28, 2013 15:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน “อนาคตเศรษฐกิจไทยภายใต้ประชาคมอาเซียน" ระบุว่า พันธะสัญญาของประชาคมอาเซียนที่ได้ร่วมตกลงกันเพื่อทำให้เกิดความเชื่อมโยงและสมบูรณ์มากขึ้นภายหลังปี 2558 ประกอบด้วย 4 ด้านคือ 1. เรื่องของตลาดและฐานการผลิต ที่จะขยายตลาดหรือฐานการผลิตจากในประเทศเป็นฐานของอาเซียน 600 ล้านคน 2. การเชื่อมโยงทางกายภาพของประชาคมอาเซียนทั้งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ เพื่อให้ประชาชนและสินค้าต่าง ๆ เดินทางไปมาหาสู่กันได้ 3. ด้านของกฎระเบียบต่าง ๆ ในการให้บริการ ทั้งด่านศุลกากร ระบบการคุ้มครองและประกันสังคมแรงงาน ระบบการคุ้มครองผู้บริโภค ที่จะมีการเชื่อมโยงและปรับปรุงให้สอดคล้องกัน 4. การเชื่อมโยงคนสู่คน การต้อนรับนักท่องเที่ยวจากนานาประเทศ หลักสูตรการศึกษาและวัฒนธรรมอาเซียนที่จะมีความผูกพันและเชื่อมโยงประชาชนในกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศมากขึ้น

“ ประเทศไทยถือว่าเราเป็นประเทศที่มีความได้เปรียบทางด้านของทำเลที่ตั้ง ก็จะกลายเป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมโยงไปสู่ประเทศอาเซียนอื่น ๆ ด้วย ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ทำให้ประเทศไทยเรามีความเหมาะสมที่จะเป็น Gateway สู่อาเซียนในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของอาเซียน เพื่อให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์สูงสุด ก็สอดคล้องกับที่รัฐบาลได้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน เพื่อเชื่อมโยงประเทศไทยไปสู่ประชาคมอาเซียนด้วยเช่นกัน" นายกรัฐมนตรีกล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กลุ่มประชาคมอาเซียนมีความท้าทายอยู่หลายประการทั้งเรื่องของเศรษฐกิจโลกที่มีความซับซ้อนผันผวน การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความห่วงใยด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงมีความจำเป็นที่อาเซียนจะต้องรวมกันเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในกลุ่มอาเซียน และรวมถึงการลดผลกระทบของความท้าทายนี้

ประเทศไทยได้ริเริ่มการหารือการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 หรือ พ.ศ. 2543 ด้วยความคิดริเริ่มเชียงใหม่พหุภาค ซึ่งเป็นความร่วมมือเพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเมืองที่เป็นครั้งแรกของการทำงานร่วมกัน และในวันนี้นอกเหนือจากความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียน ก็มีความร่วมมือในกรอบเสถียรภาพของนอกภูมิภาคด้วยเช่นกัน ทั้งการเชื่อมโยงการค้า การลงทุน ความสัมพันธ์ทางธุรกิจ อาเซียน+3 หรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาค หรือความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก และความร่วมมืออาเซียนกับประเทศคู่ค้า เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น โดยสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นการเชื่อมโยงจากภูมิภาคอาเซียนร่วมกับการเชื่อมโยงของเขตเศรษฐกิจนอกภูมิภาค

"การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมากมายจะต้องมีผลกระทบทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยในส่วนของรัฐบาลได้เตรียมความพร้อมในหลาย ๆ ภาคส่วนด้วยกัน เช่น ขณะนี้ได้มีการตั้งอาเซียนยูนิตขึ้นในทุกกระทรวง และมีกลไกการทำงานเรื่องอาเซียนเพื่อทำให้มีความชัดเจนในการบูรณาการระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งในการตั้งยูนิตนี้ประชาชนจะได้เห็นมากขึ้นในปีหน้า เพื่อที่จะประสานงานและบูรณาการเรื่องของอาเซียน รวมถึงจะมีการประชุมระดับปฏิบัติการในระดับรัฐมนตรี ระดับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด โดยสิ่งที่ต้องเร่งคือเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน"

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในนโยบายของรัฐบาลที่ได้มีการเริ่มในการหารือพูดคุยกัน ทั้งการพัฒนาโซนนิ่งภาคการเกษตร โซนนิ่งการพัฒนาอุตสาหกรรม การส่งเสริมเอสเอ็มอีและโอทอป การเชื่อมโยงการพัฒนาด่านชายแดน การพัฒนาโครงสร้างของการเชื่อมโยงสู่การค้า การเตรียมตัวของบุคลากรด้านการศึกษา นอกจากนี้ จะมีการบูรณาการการอำนวยความสะดวกในการพัฒนาด่านการค้า การพัฒนากฎระเบียบต่าง ๆ ปรับปรุงแก้ไขยกระดับกฎหมายให้เป็นกฎหมายที่เป็นมาตรฐานสากล และเป็นกฎหมายที่เสริมสร้างบรรยากาศในเรื่องของการค้า การลงทุน เพื่อให้นักธุรกิจมีโอกาสได้พัฒนาในเรื่องการส่งเสริมการลงทุน ทั้งการเชิญชวนนักลงทุนต่างประเทศมาลงทุนประเทศไทย หรือนักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ และส่งเสริมเรื่องกฎหมายการลงทุนของประเทศเพื่อนบ้าน การรักษาความปลอดภัย การดูแลนักท่องเที่ยว และกฎหมายความมั่นคงป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งต่าง ๆ เหล่านี้คือการเตรียมความพร้อมของภาครัฐทุกหน่วยงานเพื่อที่จะก้าวสู่ประชาคมอาเซียน

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความร่วมมือของภาครัฐกับภาคเอกชนว่า มีการหารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) อยู่เป็นระยะ ทั้งสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สถาบันการเงินการธนาคาร เพื่อเร่งปรับตัวในการที่จะใช้โอกาสของการเปิด AEC ให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ ๆ และการศึกษาต้นทุนการปรับโครงข่ายการผลิตในภูมิภาค หรือห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมและฐานการผลิต รวมถึงการปรับกลยุทธ์รูปแบบการตลาดที่จะต้องสอดคล้องกับตลาดใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงไป จาก 60 กว่าล้านคนเป็น 600 ล้านคน ฉะนั้น ความเข้าใจในวัฒนธรรม ความเข้าใจในกฎหมายการค้าจึงเป็นความจำเป็นสำหรับภาคเอกชน ทั้งธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ ซึ่งในส่วนนี้ภาครัฐจะทำงานร่วมกันเพื่อให้ความรู้กับภาคเอกชน

ขณะเดียวกันยังมีการบูรณาการกับภาคเอกชนในแต่ละอุตสาหกรรมที่ภาครัฐจะร่วมกับเอกชน เพื่อยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของสินค้าให้ตอบสนองแต่ละกลุ่มของตลาด และตอบสนองต่อมาตรฐานของแต่ละประเทศด้วย นอกจากนี้ ความเข้าใจทางวัฒนธรรม ความเข้าใจทางด้านมาตรฐานทางศาสนา ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ภาครัฐได้ร่วมกันทำงานกับภาคเอกชน ซึ่งในวันนี้ได้มีศูนย์ให้ข้อมูลกับภาคเอกชนพร้อมรับฟังความต้องการของภาคเอกชนและพี่น้องประชาชน เพื่อภาครัฐจะได้ร่วมกันเตรียมงานและบูรณาการเตรียมความพร้อมต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ