อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากมาตรการช่วยเหลือเฉพาะหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบพื้นที่ปลูกยางของเกษตรกรเพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ปลูกยางแล้ว ยังมอบหมายให้หน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ชี้แจงทำความเข้าใจและให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับเกษตรกรในพื้นที่ให้เข้าใจถึงกลไกของราคายางที่แท้จริงอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน
สำหรับความคืบหน้ามาตรการที่รัฐจะเข้าไปสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรนวงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท ให้แก่สถาบันเกษตรกรที่มีศักยภาพได้ใช้ประโยชน์จากโรงงานแปรรูปที่มีการสร้างไว้แล้วหรือลงทุนจัดสร้างโรงงานใหม่ และรับซื้อผลผลิตยางจากเกษตรกรโดยตรงทำให้ราคายางในประเทศมีระดับราคาที่สูงขึ้น ขณะนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์อยู่ระหว่างสรุปข้อมูลสหกรณ์แปรรูปยาง และเตรียมเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะใช้วงเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมปลายน้ำ เช่น โรงงานผลิตยางแท่ง ยางแผ่น โรงผลิตน้ำยางข้น เพื่อป้อนโรงงานผลิตถุงมือยาง เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ในส่วนของอุตสาหกรรมปลายน้ำซึ่งธนาคารออมสินจะเข้ามาดำเนินการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรม ก็มีความคืบหน้าแล้วเช่นกันโดยกลุ่มอุตสาหกรรมรายใหญ่ได้มีการประชุมเพื่อเสนอโครงการสนับสนุนการขยายกำลังการผลิตและการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต ในวงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาทแล้วเช่นกัน
"หากการดำเนินการทั้งส่วนที่จะเริ่มมีความชัดเจนภายในกลางปีหน้า จะสามารถช่วยรับซื้อผลผลิตยางในประเทศจากเกษตรกร และเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาราคายางที่จะช่วยลดการพึ่งพาราคาตลาดต่างประเทศที่จะส่งผลให้ราคายางพารามีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น"นายยุคล กล่าว