รมช.คลัง กล่าวต่อว่า แม้จะมีการกำหนดอัตราภาษี VAT ไว้ที่ 10% แต่ที่ผ่านมามีการจัดเก็บในอัตรา 7% มาโดยตลอด โดยมีเพียงครั้งเดียวที่ปรับขึ้นภาษี VAT เป็นอัตรา 10% ในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 40 ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำจากธนาคารโลก และหลังจากที่สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศกลับสู่ภาวะปกติก็มีการปรับอัตราภาษี VAT ลงมาเหลือที่ระดับ 7% ตามเดิม
“ที่ผ่านมาเราใช้ 7% มาตลอด แม้จะกำหนดไว้ 10% ก็จะเพิ่มมาครั้งเดียว คือตอนที่เกิด crisis ในปี 40 ที่ธนาคารโลกบอกให้ปรับขึ้น แล้วเราก็ปรับขึ้นไป แต่พอทุกอย่างเข้าที่เราก็ปรับลงมาเป็น 7 ตามเดิม" นางเบญจา กล่าว
ส่วนกรณีที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) มีความเป็นห่วงการจัดเก็บรายได้จากฐานภาษีของบุคคลธรรมดาที่ในอนาคตจะลดลงเรื่อยๆ จากการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนั้น นางเบญจา กล่าวว่า การจะให้การจัดเก็บรายได้จากภาษี VAT เข้ามามีบทบาทมากขึ้นนั้นคงจะต้องพิจารณากันอย่างรอบคอบและดูในภาพรวมอย่างละเอียด เนื่องจากภาษี VAT ถือเป็นภาษีทางอ้อม หากมีการปรับขึ้นจะส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกคน ซึ่งหากจะมีการปรับขึ้นภาษีนั้นในหลักของการจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรมจะต้องเก็บจากภาษีทางตรง เพราะเป็นการจัดเก็บตามกำลังความสามารถที่แท้จริงของแต่ละบุคคล
สำหรับแนวโน้มในการหารายได้จากช่องทางอื่นนั้น รมช.คลัง กล่าวว่า คงเร็วเกินไปหากจะแสดงความกังวลต่อแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ว่าจะไม่เป็นไปตามเป้า เพราะแม้เศรษฐกิจในประเทศจะถูกกระทบจากสถานการณ์ภายนอก แต่ที่ผ่านมาก็ยังสามารถจัดเก็บรายได้ได้เกินเป้า
“เวลาเราจัดทำงบประมาณรายจ่าย เรายืนยันอยู่แล้วว่าในงบประมาณรายจ่าย เราจะมีรายได้เท่าใด ขาดดุลเท่าใด ภายใต้รายจ่ายจะมีงบกลาง เราจะเผื่อไว้ครบถ้วนแล้ว ต้องบอกว่าตอนนี้จากสถานการณ์ที่ผ่านมา แม้จะมีสถานการณ์ที่มีคนเป็นห่วง หรือสถานการณ์จากภายนอก แต่เราก็ยังสามารถจัดเก็บได้อยู่ ดังนั้นตอนนี้ถ้าพูดว่ากังวล คงเร็วเกินไป" รมช.คลัง กล่าว