การส่งออกข้าวในเดือนกันยายนที่ผ่านมามีปริมาณลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย เนื่องจากการส่งออกข้าวหอมมะลิและข้าวนึ่งมีปริมาณลดลงจากเดือนก่อนค่อนข้างมาก โดยมีการส่งออกปริมาณ 107,000 (ลดลง 35% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.) และ 135,000 ตัน (ลดลง 19% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.) ตามลำดับ โดยตลาดหลักของข้าวหอมมะลิยังคงเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง กาน่า และไอวอรี่โคสต์ และตลาดหลักของข้าวนึ่งได้แก่ ประเทศเบนิน แอฟริกาใต้ แคเมอรูน และเยเมน แต่ในส่วนของข้าวขาวกลับมีการส่งออกเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมาก โดยมีการส่งออกถึง 224,000 ตัน (ลดลง 42% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.) โดยตลาดหลักได้แก่ อิรัก โมซัมบิก แองโกล่า แคเมอรูน และคองโก เป็นต้น
สำหรับภาวะการค้าข้าวในตลาดการค้าปกตินั้น ในช่วงนี้ราคาข้าวของไทยยังคงมีแนวโน้มอ่อนตัวลง โดยราคาในปัจจุบันนี้ใกล้แตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี (ราคาข้าวขาว 5% เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2553 อยู่ที่ 432 เหรียญสหรัฐต่อตัน) โดยราคาข้าวไทยมีทิศทางที่สวนทางกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญคือ เวียดนาม ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาราคาปรับเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ในระดับที่ไม่ห่างจากไทยมากนัก โดยในขณะนี้ราคาข้าวของไทยห่างจากประเทศคู่แข่งประมาณ 50 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน โดยราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม (ข้อมูลจาก ORYZA.COM) อยู่ที่ระดับ 395-405 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ขณะที่อินเดียเสนอขายข้าวขาว 5% ที่ 410-420 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน (เอฟโอบี) และปากีสถานเสนอขายที่ 375-385 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน (เอฟโอบี) (เป็นราคาที่ต่ำที่สุดในตลาด) ในขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของไทย ซึ่งเป็นราคาที่ประกาศโดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ณ วันที่ 22 ตุลาคม 2556 อยู่ที่ 432 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน (เอฟโอบี)
ในเดือนตุลาคมนี้ คาดว่าปริมาณส่งออกจะอยู่ที่ประมาณ 600,000 ตัน เนื่องจากในช่วงนี้ราคาข้าวของไทยปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับที่ไม่ห่างจากคู่แข่งมากนักทำให้มีโอกาสในการแข่งขันมากขึ้น โดยในขณะนี้ได้เริ่มมีการสอบถามราคาจากประเทศผู้ซื้อเข้ามาบ้างแล้วหลังจากที่ในช่วงก่อนหน้านี้ผู้ซื้อได้ชะลอการสั่งซื้อและรอดูสถานการณ์ราคาข้าวในตลาดโลก ประกอบกับผู้ซื้อยังคงมีความต้องการซื้อข้าวคุณภาพดีจากไทยเพื่อชดเชยสต็อกข้าวที่ลดลง ขณะที่ผู้ส่งออกยังคงมีสัญญาส่งมอบข้าวที่ยังค้างอยู่ทั้งข้าวขาว ข้าวหอมมะลิ และข้าวนึ่ง ทั้งนี้คาดการณ์ว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายจะมีการส่งออกประมาณเดือนละ 550,000-600,000 ตัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสสุดท้าย ผู้ส่งออกไทยยังคงต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศคู่แข่งทั้งเวียดนามและอินเดียที่ยังคงเร่งส่งออกข้าวอย่างต่อเนื่อง