กนง.ระบุคงดอกเบี้ยหนุนศก.ไทยค่อยๆฟื้นตัว หลังนโยบายคลังล่าช้า-ตปท.ผันผวน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 30, 2013 12:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ครั้งที่ 7/2556 วันที่16 ตุลาคม 2556 ซึ่งคณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี โดยระบุว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณทรงตัวและมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ขณะที่นโยบายการคลังแม้มีความล่าช้าออกไปบ้าง แต่โดยรวมยังมีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงเห็นพ้องถึงความจำเป็นในการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจและการเงินโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง

ทั้งนี้ กรรมการ 6 ท่านเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี โดยมีเหตุผลประกอบการตัดสิน ดังนี้ (1) ความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปคือภาวะตลาดการเงินโลกที่ยังมีความผันผวน และความไม่แน่นอนของช่วงเวลาในการทยอยปรับลดวงเงินการทำธุรกรรม QE ภายใต้ความเสี่ยงดังกล่าว การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพในภาคการเงินและรอประเมินผลกระทบจึงยังเป็นแนวนโยบายที่เหมาะสม

(2) เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ ภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่ ภาวะการเงินยังมีความผ่อนปรนเพียงพอต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามความต่อเนื่องของการฟื้นตัวต่อไป และ (3) การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีความเหมาะสมและเอื้อต่อการปรับตัวของสินเชื่อที่เข้าสู่ระดับที่สมดุลกับภาวะเศรษฐกิจ มากขึ้น แต่อัตราการขยายตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือนและภาระหนี้สะสมยังเป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตาม

นอกจากนี้ กรรมการบางท่านเห็นว่าในภาวะที่การแข่งขันระดมเงินฝากยังอยู่ในระดับสูง และยังอาจเกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลกได้อีกในระยะข้างหน้า เห็นควรให้รักษา Policy space ไว้ก่อน ขณะที่กรรมการหนึ่งท่านเห็นว่าการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมในสถานการณ์ปัจจุบันที่ยังคงมีความเสี่ยง น่าจะไม่ช่วยชดเชยแรงกระตุ้นจากภาคการคลังที่ลดลง ภาครัฐจึงควรเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เริ่มกระบวนการ Structural reform ต่างๆ ทั้งเพื่อพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวและเพิ่มความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาคเอกชน

คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวน้อยกว่าที่คาด แต่เริ่มทรงตัวและเห็นสัญญาณปรับดีขึ้นในบางภาค การส่งออกสินค้าหลายประเภทและในหลายตลาดเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกที่ปรับดีขึ้น

อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยอาจฟื้นตัวช้ากว่าบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ส่งออกสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูง เช่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน เนื่องจากการส่งออกของไทยในบางกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (Integrated Circuits) และ สิ่งทอ ประสบกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ส่งผลให้ความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลกลดลง อุปสงค์ในประเทศทรงตัว โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ตามการใช้จ่ายในสินค้าไม่คงทนเป็นหลัก โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้นอกภาคเกษตรที่ยังโน้มสูงขึ้น ส่วนการลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะการลงทุนก่อสร้างขยายตัวดี ในระยะต่อไป แนวโน้มการส่งออกที่ค่อยๆ ปรับดีขึ้น ประกอบกับการที่ภาคธุรกิจยังมีความต้องการลงทุนและไม่ได้มีข้อจำกัดด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน น่าจะส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ต่อเนื่อง

สำหรับอัตราเงินเฟ้อชะลอลงตามต้นทุนการผลิตโดยรวมที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำและอุปสงค์ในประเทศในระยะต่อไป คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ภายใต้ภาวะการเงินที่ยังผ่อนปรนและสอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยความเสี่ยงสำคัญมาจากความล่าช้าในการเบิกจ่ายโครงการลงทุนของภาครัฐ ประกอบกับความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2556 และ 2557 จะขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมมาอยู่ที่ร้อยละ 3.7 และ 4.8 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับแรงกดดันเงินเฟ้อปรับลดลงเล็กน้อยจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ลดลง ขณะที่เศรษฐกิจโลกโดยรวมมีแนวโน้มค่อยๆ ปรับดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ต่อเนื่องไปปีหน้า โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลัก (G3) มีสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ยังมีความเสี่ยงอยู่มาก ในขณะที่เศรษฐกิจกลุ่มอาเซียนขยายตัวชะลอลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ