สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรส่งสัญญาณชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าเช่นกัน สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือน ก.ย.56 และไตรมาส 3/56 หดตัวร้อยละ -12.7 และ-7.9 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้างยังคงขยายตัวได้ดี โดยยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ ขยายตัวร้อยละ 3.4 และ 3.0 ต่อปี ตามลำดับ สะท้อนภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีการเติบโตและกลับเข้าสู่ระดับปกติภายหลังจากที่มีการเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 55 เช่นเดียวกับภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ขยายตัวร้อยละ 12.6 และ 22.0 ต่อปี
ด้านการส่งออกมีสัญญาณชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าเช่นกัน โดยการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือน ก.ย.56 หดตัวร้อยละ -7.1 ต่อปี ในหลายตลาด อาทิ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสิงโปร์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกบางรายการมีการฟื้นตัวดีขึ้น อาทิ สินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นมาขยายตัวร้อยละ 4.4 และ 1.0 ตามลำดับ จากสินค้าข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และไก่แปรรูป เป็นสำคัญ สอดคล้องกับการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ที่ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง
ทั้งนี้ แม้ไตรมาส 3/56 การส่งออกสินค้าหดตัวร้อยละ -1.7 ต่อปี แต่มูลค่าการส่งออกไปตลาดสหรัฐและสหภาพยุโรปกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 0.7 และ 8.5 ต่อปี ตามลำดับ อีกทั้งตลาดอาเซียนในภาพรวมที่ยังคงขยายตัวได้ดี สอดคล้องกับเมื่อพิจารณาเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่ายังคงขยายตัวได้ร้อยละ 1.5 ต่อไตรมาส
ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ย.56 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ทำให้ไตรมาส 3/56 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.7 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.5
สำหรับอัตราการว่างงานในเดือน ก.ค.56 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวม และสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือน ส.ค.56 อยู่ที่ร้อยละ 44.6 อยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0
ขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้
นางวิภารัตน์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการส่วนแบบจำลองและประมาณการเศรษฐกิจ กล่าวว่า สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานในเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ของปี 56 พบว่า ในภาคบริการยังคงขยายตัวได้ดีสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 27.6 และ 26.1 ต่อปี ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่มาจากจีนและมาเลเซียเป็นสำคัญ ขณะที่ภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมยังคงส่งสัญญาณชะลอตัว โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ของปี 56 หดตัวร้อยละ -4.3 และ -3.4 ต่อปี ตามลำดับ จากการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะข้าวที่ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและผลผลิตกุ้งจากปัญหาโรคระบาด สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ของปี 56 ที่หดตัวร้อยละ -2.9 และ -3.6 ต่อปี ส่วนหนึ่งมาจากการลดลงของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กุ้งแช่แข็งที่ได้รับผลกระทบจากโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) และการลดลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการเร่งการผลิตไปแล้วในช่วงก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม มีข้อที่น่าสังเกตคือ บางอุตสาหกรรมเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายที่สามารถกลับมาขยายตัวในไตรมาสที่ 3 ของปี 56 ที่ร้อยละ 3.2 เนื่องจากคำสั่งซื้อภายในประเทศเพิ่มขึ้นทำให้ยอดขายในปีนี้มากกว่าปีก่อนและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่กลับมาขยายตัวติดต่อกัน 2 เดือนอันมีสาเหตุหลักจากการผลิตสินค้ารูปแบบใหม่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น