SCB EIC มองราคายางในตลาดโลกไม่สูงเหมือนอดีต หลังซัพพลายล้น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 30, 2013 14:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า ราคายางพาราในตลาดโลกจะไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นได้มากเหมือนในอดีต เนื่องจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราของจีนและกลุ่มประเทศ CLMV ทำให้ปริมาณผลผลิตยางพาราที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ในช่วง 1 ทศวรรษหน้า โลกจะต้องเผชิญกับภาวะผลผลิตยางพาราล้นตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2013-2022 โลกจะมีผลผลิตส่วนเกินเฉลี่ยปีละ 162,000 ตัน แตกต่างจากช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่โลกประสบปัญหาการขาดแคลนยางพารา

นอกจากนั้น ในระยะต่อไป ปัจจัยที่กระทบต่อความต้องการบริโภคยางพาราโลก เช่น ภาวะเศรษฐกิจและราคาน้ำมันดิบ จะมีอิทธิพลต่อราคายางพาราโลกเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหากเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะซบเซาหรือราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ก็จะส่งผลให้ความต้องการยางพาราในตลาดโลกปรับตัวลดลง ส่วนเกินผลผลิตยางพาราโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคายางพาราปรับตัวลดลง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราของจีนและกลุ่มประเทศ CLMV จะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางพาราของไทย แต่การเร่งขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราของกลุ่มประเทศ CLMV ในช่วงปี 2006-2012 จะทำให้ผลผลิตยางพาราในกลุ่มประเทศดังกล่าวเพิ่มขึ้น

ในช่วงปี 2013-2019 โดย IRSG คาดว่า ผลผลิตยางพาราของกลุ่ม CLMV จะเพิ่มขึ้นจาก 1.1 ล้านตันในปี 2012 เป็น 2.8 ล้านตันในปี 2022 ซึ่งผลผลิตที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว จะทำให้กลุ่ม CLMV มีส่วนแบ่งปริมาณผลผลิตยางพาราในโลกเพิ่มขึ้นจาก 9% ในปี 2012 เป็น 17% ในปี 2022 ในขณะที่ไทยจะมีส่วนแบ่งปริมาณผลผลิตในโลกลดลง จาก 31% ในปี 2012 เป็น 24% ในปี 2022 แต่อาจทำให้บทบาทของไทย ในการเป็น supplier หลักในตลาดยางพาราโลกจะลดความสำคัญลง ขณะที่บทบาทของกลุ่มประเทศ CLMV จะมีมากขึ้น

SCB EIC เกษตรกรชาวสวนยางจะต้องปรับตัว เพื่อที่จะเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น จากการขยายพื้นที่กรีดยางพาราในประเทศ CLM ขณะที่ไทยจะต้องเผชิญการแข่งขันที่จะเพิ่มขึ้น ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจโลกและจีนตกต่ำ การที่ผลผลิตในกลุ่มประเทศ CLMV เพิ่มขึ้น ทำให้จีนมีทางเลือกในการนำเข้ายางพาราเพิ่มขึ้น หากความต้องการบริโภคยางพาราในจีนปรับตัวลดลง จีนก็มีแนวโน้มที่จะหันไปนำเข้ายางพาราจากประเทศในกลุ่ม CLMV และลดการนำเข้าจากไทย เพราะราคายางพาราไทยแพงกว่าราคาในกลุ่มประเทศดังกล่าว

ดังนั้น ในระยะต่อไป ไทยจะต้องส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพันธุ์ยางที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง เพื่อลดต้นทุนการผลิต ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถการแข่งขันด้านราคา ปัจจุบันผลผลิตยางพาราของไทยอยู่ที่ 262 กิโลกรัมต่อไร่ ต่ำกว่าเวียดนามที่มีผลผลิตอยู่ที่ 275 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งไทยสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ หากมีการปรับเปลี่ยนไปปลูกพันธุ์ยางที่ให้ผลผลิตต่อต้นเพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ