ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรฯได้เตรียมการที่จะเพิ่มผลผลิตปาล์มต่อไร่ให้แก่เกษตรกร โดยสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สวก.ได้ให้ทุนสนับสนุนแก่ 5 หน่วยงานได้แก่ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กรมวิชาการเกษตรศึกษาวิจัยปาล์มน้ำมัน พันธุ์ ที่ให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันสูงกว่า 5 ตันต่อไร่ และมีค่าน้ำมันสูงกว่า 25 เปอร์เซ็นต์น้ำมัน และพร้อมจะดำเนินการกระจายพันธุ์ปาล์มดังกล่าวสู่เกษตรกร และคาดว่าจะขยายพันธุ์ได้อีกกว่า 100,000 ต้นภายในปีหน้า เพื่อเพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมันภายในประเทศให้สูงขึ้น
ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลในการใช้น้ำมัน ไบโอดีเซล B7 ทดแทนน้ำมันไบโอดีเซล B5 และสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนจากน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น เช่น การใช้น้ำมันปาล์มทดแทนน้ำมันเตาในโรงไฟฟ้าจังหวัดกระบี่ ดังนั้น มาตการดังกล่าวน่าจะส่งผลให้มีการใช้น้ำมันปาล์มภายในประเทศมากขึ้น และกระตุ้นราคาน้ำมันปาล์มให้เพิ่มสูงขึ้นได้
ขณะเดียวกัน กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำแนวทางดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมัน โดยการกำหนดเป้าหมายในการขับเคลื่อนนโยบายการบริหารจัดการแขตเกษตรเศรษฐกิจ หรือโซนนิ่งปาล์มน้ำมันในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัด กระบี่ ชุมพร และสุราษฏร์ธานี ที่มีความพร้อมในการจัดโซนนิ่ง เนื่องจากมีโรงงานแปรรูป และและพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน โดยจะจัดระบบปาล์มน้ำมัน ลดต้นทุนการผลิต ดูแลพันธุ์ปาล์ม จัดทำมาตรฐานทลายปาล์มน้ำมัน และการรับซื้อปาล์มน้ำมันตามคุณภาพผลผลิต และโรงงานอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันที่ไม่ก่อให้เกิดของเสีย โดยใช้เครื่องจักรกลเกษตรเป็นตัวดำเนินการ ซึ่งได้นำเสนอผ่านคณะอนุกรรมการปาล์มน้ำมันแล้ว และจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายน้ำมันปาล์มแห่งชาติ (กนป.) ที่มีนายนิวัฒน์ธำรงค์ บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานเพื่อพิจารณาต่อไป