ส่วนปี 57 การเติบโตของเศรษฐกิจจะได้รับแรงผลักดันจากการส่งออกที่ศูนย์วิจัย SCB EIC ประเมินว่าจะขยายตัวได้ถึง 8% ตามแรงขับเคลื่อนของสินค้ากลุ่มยานยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่คาดว่าจะเติบโตได้ประมาณ 10% รวมทั้งได้รับแรงสนับสนุนจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่น่าจะเริ่มชัดเจนมากขึ้น
ขณะที่ค่าเงินบาทมองว่าจะผันผวนจากแนวโน้มการปรับลดขนาดมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งได้ส่งผลให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออกในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี EIC คาดว่าการปรับลด QE จะเริ่มต้นในปี 57 ค่าเงินบาทจึงมีแนวโน้มทรงตัวในระดับปัจจุบันที่ 31 บาท/ดอลลาร์ในช่วงที่เหลือของปีนี้ และจะอ่อนค่าลงเล็กน้อยในปีหน้า
สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับผ่อนคลายที่ 2.50% ต่อเนื่องถึงปี 57 จากอัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำ และภาวะหนี้ครัวเรือนที่เริ่มคลี่คลายลงตามลำดับ โดยปัจจัยที่จะมีผลต่อการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในระยะต่อไป ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ส่งผลต่อทิศทางดอกเบี้ยในภูมิภาค และการใช้จ่ายภาครัฐตามแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน
SCB EIC ระบุว่า แนวโน้มการปรับลดมาตรการ QE จะส่งผลให้เกิดการโยกย้ายเงินลงทุนออกจากตลาดเกิดใหม่ และทำให้ตลาดเงินและตลาดทุนของไทยมีโอกาสเชิญกับความผันผวนอีกครั้ง ซึ่งสิ่งที่ธุรกิจไทยควรเตรียมรับมือคือ 1) ความผันผวนของค่าเงินบาท ซึ่งอาจอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วในระยะสั้นเมื่อมีการประกาศปรับเปลี่ยนมาตรการ QE และ 2) การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการกู้ยืมผ่านตลาดพันธบัตรตามการขยับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ดังนั้น ธุรกิจที่จำเป็นต้องใช้เงินดอลลาร์ หรือมีความจำเป็นต้องระดมเงินในตลาดพันธบัตร ควรติดตามแนวโน้มการปรับมาตรการ QE อย่างใกล้ชิด เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่มีความผันผวนสูง
ในส่วนของความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของภาวะเงินทุนไหลออกนั้น EIC ยังเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะไม่ประสบปัญหาดุลการชำระเงิน เหมือนสมัยปี 1997 เพราะมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี เช่น มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มากถึง 2.7 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น และระบบธนาคารที่มีการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องในระดับสูง เป็นต้น