(เพิ่มเติม) ธปท.เผยเศรษฐกิจ ก.ย.56 ทรงตัว แต่ภาพรวมไตรมาส 3/56 มีสัญญาณดีขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 31, 2013 15:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แถลงภาวะเศรษฐกิจเดือน ก.ย.56 ในภาพรวมทรงตัวจากเดือนก่อน โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าบางหมวดปรับตัวดีขึ้น และภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อชะลอตัว การว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุลจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ส่วนดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายและดุลการชำระเงินเกินดุล

ส่วนไตรมาส 3/56 เศรษฐกิจมีสัญญาณปรับดีขึ้นบ้างเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ตามการส่งออกสินค้าในหลายหมวดที่ทยอยปรับดีขึ้นตามอุปสงค์ต่างประเทศและการท่องเที่ยวที่เติบโตดีต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนค่อนข้างทรงตัว ส่งผลให้การฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังไม่ชัดเจนนัก ด้านภาครัฐมีการเร่งใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแต่น้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อชะลอลง อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยลงจากไตรมาสก่อน โดยการขาดดุลส่วนใหญ่เป็นผลจากการส่งกลับกำไรและเงินปันผลไปต่างประเทศ ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลจากการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นของสถาบันการเงินเป็นสำคัญ โดยรวมดุลการชำระเงินขาดดุลน้อยลงจากไตรมาสก่อน

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนก.ย.ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน ขณะที่การส่งออกสินค้าบางหมวดปรับตัวดีขึ้น จึงเชื่อว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ไม่ผิดหูผิดตา หรือเป็นการฟื้นตัวแบบท้องช้าง

อย่างไรก็ตาม ธปท.มั่นใจว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/56 จะดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 2/56 และมีแรงปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/56 เชื่อว่าจะขยายตัวเป็นบวก เนื่องจากคาดว่าการส่งออกจะเริ่มดีขึ้น จึงทำให้ทั้งปี 56 การส่งออกสามารถเติบโตได้อย่างน้อย 1% ตามคาดการณ์ล่าสุด

นายเมธี ยังกล่าวถึงผลกระทบเศรษฐกิจจากปัจจัยการเมืองในประเทศว่า คงต้องรอดูสถานการณ์ว่าการชุมนุมเคลื่อนไหวจะมีพัฒนาการอย่างไร ยืดเยื้อหรือรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในรอบหน้า คงจะได้นำผลกระทบจากการเมืองเข้าไปประกอบการพิจารณา เพราะเชื่อว่าในช่วงนั้นน่าจะมองเห็นผลกระทบได้ชัดเจนขึ้นกว่าขณะนี้

ส่วนที่กังวลว่าสถานการณ์การเมืองจะกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนนั้น นายเมธี ยอมรับว่า การเมืองเป็นปัจจัยหนึ่ง แต่ไม่ใช่ปัจจัยเดียว เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลด้วย เช่น การปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม(LPG), การปรับขึ้นค่าไฟฟ้า รวมทั้งความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่ยังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ดังนั้น การเมืองจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากหรือน้อยคงต้องรอดูและประเมินสถานการณ์ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ