(เพิ่มเติม) SCB EIC คาด GDP ปี 56 โตแค่ 3.4% ก่อนดีดขึ้น 4.5% ปี 57 หลังส่งออกฟื้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 31, 2013 15:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 56 นี้ จะขยายตัว 3.4% และในปี 57 จะขยายตัว 4.5% ซึ่งต่ำกว่าค่าประเมินเดิม เนื่องจากการส่งออก 9 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวได้เพียง 0.1% ต่ำกว่าคาด, การบริโภคของภาคเอกชน โดยเฉพาะในส่วนของหมวดยานยนต์ชะลอตัวลงมากกว่าคาด และการใช้จ่ายของภาครัฐต่ำกว่าเป้าหมาย ทั้งในส่วนของการลงทุนในงบประมาณและการลงทุนโครงการขนาดใหญ่

ส่วนปี 57 การเติบโตของเศรษฐกิจจะได้รับแรงผลักดันจากการส่งออกที่ศูนย์วิจัย SCB EIC ประเมินว่าจะขยายตัวได้ถึง 8% ตามแรงขับเคลื่อนของสินค้ากลุ่มยานยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่คาดว่าจะเติบโตได้ประมาณ 10% รวมทั้งได้รับแรงสนับสนุนจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่น่าจะเริ่มชัดเจนมากขึ้น

นางสุทธาภา กล่าวต่อว่า แนวการปรับลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) สหรัฐฯ จะยังไม่เกิดขึ้นในปีนี้ แต่คาดว่าจะเริ่มมีการปรับลดในปี 57 จากที่ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดของสหรัฐฯ ส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ชะลอลง เช่น การบริโภคภาคเอกชน ตลาดที่อยู่อาศัย และตลาดแรงงาน ส่งสัญญาณชะลอตัวลง ประกอบกับยังได้รับผลกระทบจากปัญหาทางด้านการคลังของสหรัฐฯ ที่กระทบต่อภาคเศรษฐกิจทั้งในด้านความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจ แม้ว่าสภาคองเกรสจะสามารถขยายเพดานหนี้ให้รัฐบาลสามารถกู้ยืมมาใช้จ่ายได้จนถึงวันที่ 7 ก.พ. 57 แต่ปัญหานี้จะสร้างความกังวลให้แก่ตลาดการเงินอีกครั้งเมื่อใกล้ถึงเส้นตายดังกล่าว

SCB EIC ระบุว่า แนวโน้มการปรับลดมาตรการ QE จะส่งผลให้เกิดการโยกย้ายเงินลงทุนออกจากตลาดเกิดใหม่ และทำให้ตลาดเงินและตลาดทุนของไทยมีโอกาสเชิญกับความผันผวนอีกครั้ง ซึ่งสิ่งที่ธุรกิจไทยควรเตรียมรับมือคือ 1) ความผันผวนของค่าเงินบาท ซึ่งอาจอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วในระยะสั้นเมื่อมีการประกาศปรับเปลี่ยนมาตรการ QE และ 2) การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการกู้ยืมผ่านตลาดพันธบัตรตามการขยับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ดังนั้น ธุรกิจที่จำเป็นต้องใช้เงินดอลลาร์ หรือมีความจำเป็นต้องระดมเงินในตลาดพันธบัตร ควรติดตามแนวโน้มการปรับมาตรการ QE อย่างใกล้ชิด เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่มีความผันผวนสูง

ขณะที่ค่าเงินบาทมองว่ามีแนวโน้มทรงตัวในระดับปัจจุบันที่ 31 บาท/ดอลลาร์ในช่วงที่เหลือของปีนี้ และจะอ่อนค่าลงเล็กน้อยในปีหน้า

"ค่าเงินบาทในปีหน้าประเมินว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ในช่วงต่อไปปัจจัยเงินทุนไหลออกยังเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย แม้ว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยจะยังแข็งแกร่งก็ตาม ดังนั้นภาคเอกชนไทย จะต้องเตรียมรับมือกับความผันผวนของค่าเงินบาทที่อาจอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วในระยะสั้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ (QE)"นางสุทธาภา อมรวิวัฒน์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย SCB EIC กล่าว

สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับผ่อนคลายที่ 2.50% ต่อเนื่องถึงปี 57 จากอัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำ และภาวะหนี้ครัวเรือนที่เริ่มคลี่คลายลงตามลำดับ โดยปัจจัยที่จะมีผลต่อการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในระยะต่อไป ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ส่งผลต่อทิศทางดอกเบี้ยในภูมิภาค และการใช้จ่ายภาครัฐตามแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

ในส่วนของความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของภาวะเงินทุนไหลออกนั้น EIC ยังเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะไม่ประสบปัญหาดุลการชำระเงิน เหมือนสมัยปี 1997 เพราะมีปัจจัยพื้นฐานที่ดีกว่าในอดีต เช่น มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มากถึง 2.7 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น และระบบธนาคารที่มีการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องในระดับสูง เป็นต้น

สำหรับผลกระทบทางด้านการเมืองต่อภาวะเศรษฐกิจไทยนั้น มองว่าหากยังไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นก็จะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจไทย แต่อย่างไรก็ตามหากยังมีความไม่แน่นอนทางด้านการเมืองก็จะส่งผลกระทบต่อความน่าสนใจในการเข้ามาลงทุน โดยหากภาวะการเมืองที่ไม่แน่นอนยังคงอยู่ต่อไป อาจจะทำให้นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจไปลงทุนในประเทศอื่นแทนได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ