ทั้งนี้ รูปแบบโครงสร้างและแนวทางในการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานนี้ จะถูกกำหนดให้เป็นเครื่องมือในการระดมทุนเท่านั้น ไม่นำไปสู่การแปรรูป กฟผ.แต่อย่างได โดยคาดว่ากองทุนจะมีขนาดไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท และมีอายุกองทุน 15-25 ปี
นายอาทิตย์ นันทวิทยา รองผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ SCB กล่าวว่า เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถศึกษารูปแบบการจัดตั้งกองทุนรวมฯ ดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา และสามารถเสนอขายหน่วยลงทุนภายใน 180 วัน หลังจากได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการ
นายสุนชัย กล่าวอีกว่า สำหรับโรงไฟฟ้าพระนครเหนือเฟส 1 ที่จะขายเข้ากองทุนนั้น มีกำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ มีรายได้ประมาณ 2 พันล้านบาท/ปี คาดว่าการลงทุนในกองทุนดังกล่าวจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรที่ กฟผ.เคยออกมาก่อนหน้านี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยในระดับ 4.725% และการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวจะสามารถระดมทุนให้กับ กฟผ.ได้ถึง 1.5-1.7 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะสามารถขายหน่วยลงทุนของกองทุนและนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ช่วงไตรมาส 2-3/57
"เราคาดว่าการจัดตั้งกองทุนครั้งนี้น่าจะสามารถระดมทุนได้ประมาณ 1.5-1.7 หมื่นล้านบาท แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าที่ปรึกษาทางการเงินจะประเมิณอย่างไร และความต้องการใช้เงินของเรานั้นอยู่ที่เท่าไหร่ ซึ่งเราจะไม่ให้ส่งผลกระทบต่อค่าไฟ"นายสุนชัย กล่าว
กฟผ.จะเข้าไปถือหุ้นในกองทุนฯดังกล่าวไม่เกิน 30% ตามสัดส่วนที่ทางคณะกรรมการกำกับดูแลหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)กำหนดไว้ ซึ่งในอนาคตอาจจะพิจารณานำโรงไฟฟ้าพระนครเหนือเฟส 2 ที่จะเริ่มปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบในช่วงปี 59 และโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ที่จะเริ่มปล่อยกระแสไฟฟ้าได้ในปี 61 ขายเป็นสินทรัพย์ของกองทุนเพิ่มเติม ซึ่งโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าโรงละ 800 เมกะวตต์ แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องขึ้นกับความต้องการใช้เงินของ กฟผ.ด้วย
ขณะที่ กฟผ.ตั้งงบลงทุนระยะ 5 ปี(ปี 57-61)รวมประมาณ 4 แสนล้านบาท โดยในปี 57 จะมีงบลงทุนอยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินลงทุนดังกล่าวจะใช้ในการก่อสร้าง และปรับปรุงโรงไฟฟ้า รวมถึงระบบสายส่ง โดย กฟผ.มีแผนปรับปรุงโรงไฟฟ้าแม่เมาะ โครงการที่ 4-7 กำลังการผลิตประมาณ 600 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานลำตะคอง กำลังการผลิต 500 เมกะวัตต์ และการปรับปรุงสายส่งบริเวณรอบกรุงเทพฯ ภาคอีสาน และภาคใต้