เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ อยู่ระหว่างการตรวจสอบ 40,322 ราย โดยมีคณะกรรมการระดับจังหวัดในพื้นที่เข้าตรวจสอบร่วมกับกรมป่าไม้ ส่วนเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิเลยนั้นมีอยู่ 36,023 ครัวเรือน ซึ่งในจำนวนนี้ กษ.ส่งให้กรมป่าไม้ตรวจสอบพื้นที่ โดยระหว่างนี้กำลังตรวจสอบโดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศ และจะยืนยันรายชื่อเกษตรกรทั้งหมดว่าใน 36,000 รายนี้เป็นใคร และอยู่ในพื้นที่ป่าจริงหรือไม่ ซึ่งคาดว่าในเร็วๆ นี้จะตรวจสอบเป็นที่เรียบร้อย
"ขอเรียนว่า ขณะนี้กระบวนการตรวจสอบสิทธิของที่ดินของเกษตรกรได้ทำอย่างเร็ว เราเพิ่งปิดการรับขึ้นทะเบียนไปเมื่อ 15 ต.ค.นี้ ขณะนี้อยู่ระหว่งการตรวจสอบพื้นที่ทั้งหมด ที่เกษตรกรถามว่าตรวจสอบช้า ดูเหมือนรัฐบาลไม่จริงใจนั้น เรียนว่าการช่วยเหลือครั้งนี้ รัฐบาลต้องการช่วยเหลือเกษตรกรทุกคน และต้องตรวจสอบทุกแปลง เราใช้กรรมการระดับตำบล ตำบล ละ 1 คณะ นี่คือเหตุผลที่ช้า เพราะต้องตรวจสอบพื้นที่จริง และจ่ายเงินตรงให้แก่เกษตรกรทุกราย" รองนายกฯ กล่าว โดยคาดว่าปลาย พ.ย.น่าจะตรวจสอบแล้วเสร็จได้ถึง 90%
ส่วนแนวนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางทั้งระบบนั้น ตามที่รัฐบาลให้วงเงินกู้แก่เกษตรกร หรือกลุ่มเกษตรกรเพื่อให้มีความเข้มแข็งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในประเทศนั้น ขณะนี้มีเกษตรกรและสหกรณ์ 245 กลุ่ม ยื่นขอใช้เงินกู้ในการพัฒนายางในวงเงิน 6,600 ลบ. ซึ่งเกินกว่าวงเงินกู้ที่รัฐจัดสรรไว้ ดังนั้นจึงได้มีการประสานระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์และ ธ.ก.ส.ในการตรวจสอบโครงการและความพร้อมของเกษตรกรแต่ละแห่ง
พร้อมกันนี้ รัฐบาลยืนยันว่าไม่สามารถเข้าไปรับซื้อยางที่ราคากก.ละ 100 บาทตามข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมได้ โดยรัฐบาลจะยึดแนวทางในช่วยเหลือเป็นค่าปัจจัยการผลิต ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับแนวทางนี้