ก.เกษตรฯ ชงกนย.สนับสนุนสินเชื่อ 5 พันลบ.ใช้ขยายกำลังผลิต แก้ปัญหายาง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 6, 2013 13:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ ปี 2557 ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบโครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพาราภายใต้โครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ ปี 2557 ในวงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท โดยมี ธ.ก.ส. เป็นแหล่งเงินสนับสนุนการลงทุนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อนำไปใช้ในการขยายกำลังการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจากโรงงานแปรรูปยางที่จัดสร้างไว้แล้ว หรือลงทุนจัดสร้างโรงงานใหม่ในการแปรรูปยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่า และสนับสนุนสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกร ซึ่งดำเนินการแปรรูปยางพาราทั้งโรงงานยางแท่ง โรงงานยางแผ่นรมควัน ยางอัดก้อน โรงงานยางคอมปาวด์ โรงงานน้ำยางข้น และโรงงานยางเครป

โดยรัฐบาลจะสนับสนุนเงินอุดหนุนจ่ายขาดจากงบกลางประจำปีงบประมาณ 2557 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น รวมทั้งสิ้น 1,550 ล้านบาท สำหรับเงินชดเชยอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนให้กับสถาบันเกษตรกร ตามวงเงินที่ ธ.ก.ส. จะให้กู้ในวงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท จะคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี โดยรัฐบาลเป็นผู้รับภาระดอกเบี้ยแทนสถาบันเกษตรกร มีระยะเวลาในการขอรับเงินชดเชยดอกเบี้ยจากรัฐบาล 5 ปี เป็นเงินชดเชยดอกเบี้ยปีละ 250 ล้านบาท รวมเป็นเงินขอรับเงินชดเชยดอกเบี้ยทั้งสิ้น 1,250 ล้านบาท

“โครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการช่วยชะลออุปทานยางพาราในตลาดจากการแปรรูปยางพาราของสถาบันเกษตรกร เพื่อรอจำหน่ายเมื่อเห็นว่ามีราคาที่เหมาะสม ในปริมาณยางเดือนละไม่น้อยกว่า 111,990ตัน หรือปีละประมาณ 900,000 ตัน ซึ่งคิดจากระยะเวลาการกรีดยางปีละ 8 เดือน อีกทั้งเป็นการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรในการขยายกำลังการผลิต ทั้งนี้ จะได้นำมติที่ประชุมดังกล่าวเสนอคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป" นายชวลิตกล่าว

นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้มีการรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ ปี 2557 ในระยะสั้น ของกรมส่งเสริมการเกษตร โดยในขณะนี้มีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนจำนวนทั้งสิ้น 1,193,332 ครัวเรือน ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อยประมาณร้อยละ 5 มีการบันทึกข้อมูลลงระบบแล้ว 1,038,842 ครัวเรือน คิดเป็นพื้นที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 13.57 ล้านไร่ โดยเป็นผู้ที่พร้อมตรวจสอบแปลงได้ จำนวน 727,517 ครัวเรือน และผู้ที่ยังไม่สามารถตรวจสอบแปลงในขณะนี้ได้ จำนวน 312,325 ครัวเรือน

ทั้งนี้ เนื่องจากเกษตรกรที่มีพื้นที่นอกเอกสารสิทธิ์ 36,023 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก 449,033 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเหนือเอกสารสิทธิ์ของกรมป่าไม้ 46 รายการ เป็นพื้นที่ที่ไม่มีผู้รับรอง 40,322 ราย พื้นที่ปลูก 776,903 ไร่ โดยเป็นสวนยางพาราที่มีอายุไม่ถึงเกณฑ์ที่สามารถกรีดได้ 80,000 ครัวเรือน และมีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนแต่ไม่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ 141,186 ครัวเรือน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจสอบแปลงปลูกทุกแปลง จำนวน 622,217 ครัวเรือน ตรวจสอบเสร็จและออกใบรับรองแล้ว จำนวน 103,205 ครัวเรือน 140,727 แปลง เกษตรกรได้รับเงินจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แล้ว จำนวน 48,152 ครัวเรือน 65,678 แปลง เป็นเงิน 848 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ