ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมรายงานว่าได้ดำเนินกลยุทธ์การชี้ทิศทางและการสร้างโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยอาศัยกลไกการดำเนินนโยบายส่งเสริมรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล ซึ่งได้ปิดให้การส่งเสริมลงในปี 2550 มีผู้ประกอบการที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน จำนวนทั้งสิ้น 5 ราย ด้วยกำลังการผลิตที่สูงกว่า 585,000 คันต่อปี
จากการประเมินความสำเร็จของนโยบายดังกล่าวพบว่า นโยบายนี้ประสบความสำเร็จสูงกว่าความคาดหมาย โดยปัจจุบันได้มีการลงทุนสร้างฐานการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากลที่ครบวงจร ซึ่งรวมถึงการผลิตเครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง และชิ้นส่วนยานยนต์ การดำเนินกิจกรรมการวิจัยและพัฒนารถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล และการลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อรองรับฐานการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานในประเทศไทย
ทั้งนี้ เพื่อสร้างโอกาสและขยายฐานการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นรถยนต์ที่สะอาด ประหยัด ปลอดภัย สอดคล้องกับทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์โลก และสอดรับกับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ซึ่งจะเริ่มกำหนดใช้ขึ้นในปี 2559 ประกอบกับคณะรัฐมนตรีมีมติ (28 พ.ค.56 และ 6 ส.ค.56) มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล(Eco-car) ระยะที่ 2 ผ่านสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) โดยเปิดให้การส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ประยัดพลังงานมาตรฐานสากล(Eco-car)ขึ้นมาใหม่ โดยมีหลักเกณฑ์เงื่อนไขตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะศึกษาและกำหนดต่อไป เพื่อเป็นการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างมีเสถียรภาพและต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย