เงินบาทปิดตลาด 31.61/63 แกว่งตัวในกรอบ ยังรอดูสถานการณ์การเมือง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 12, 2013 17:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 31.61/63 บาท/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 31.62/64 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันเงินบาทไปทำโลว์ที่ระดับ 31.54 บาท/ดอลลาร์ และทำไฮที่ระดับ 31.66 บาท/ดอลลาร์
"ช่วงก่อนเที่ยงปรับตัวแข็งค่าเนื่องจากมี flow ไหลเข้าจากแบงก์โตเกียวเทขายออกมา" นักบริหารเงิน กล่าว

ตลาดยังจับตาดูความชัดเจนเรื่องมาตรการ QE และสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศวันพรุ่งนี้ซึ่งทางกลุ่มผู้ชุมนุมรณรงค์ให้ประชาชนเริ่มใช้มาตรการอารยะขัดขืน เช่น การนัดหยุดงานทั่วประเทศ การหยุดการเรียนการสอน

นักบริหารเงิน ประเมินทิศทางเงินบาทวันพรุ่งนี้น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 31.55-31.70 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 99.68/72 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 99.49/51 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.3381/3384 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.3392/3394 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,413.08 จุด เพิ่มขึ้น 7.17 จุด, +0.51% มูลค่าการซื้อขาย 30,463.98 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 3,295.90 ล้านบาท(SET+MAI)
  • นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) คาดดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน พ.ย.56 จะใกล้เคียงกับเดือน ต.ค.56 ส่วนดัชนีผลผลิตคาดว่าจะยังสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเดือน พ.ย.55 และเทียบกับเดือน ต.ค.56 สินค้าสำคัญที่ออกสู่ตลาดในเดือน พ.ย.นี้ ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน และมันฝรั่ง
  • ผลสำรวจความเห็นของผู้บริหารบริษัทเกี่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจและธุรกิจ พบว่าดัชนีทางเศรษฐกิจในเดือน ต.ค.เท่ากับ -16 ซึ่งต่ำสุดในรอบปี และยังเป็นระดับที่ลดลงจากเดือน ก.ย.ถึง -9 สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะชะงักงันของเศรษฐกิจ ขณะที่ในเดือน พ.ย.คาดการณ์ว่าดัชนีจะมีค่า -15 ทั้งนี้การที่ดัชนีมีค่าติดลบสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของผู้บริหารต่อปัญหาด้านการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะชะลอตัวตั้งแต่ไตรมาส 2 กลายเป็นสภาวะชะงักงันและถดถอยของเศรษฐกิจ
  • มูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส เผยเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะมีเสถียรภาพมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า หลังจากที่เศรษฐกิจและตลาดการเงินเผชิญความผันผวนมาอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วในกลุ่มจี-20 จะมีการฟื้นตัวเล็กน้อย ด้วยอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ที่ระดับประมาณ 1.3% ในปีนี้, 2.0% ในปี 2557 และราว 2% ในปี 2558 ซึ่งสอดคล้องกับระดับที่ระบุไว้ในรายงานเดือน ส.ค. ส่วนประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่กลุ่มจี-20 นั้น การคาดการณ์ของมูดีส์เกี่ยวกับการขยายตัวของกลุ่มประเทศดังกล่าวถือว่าอ่อนแรงลงกว่าการคาดการณ์เมื่อ 3 เดือนก่อน โดยรวมแล้วมูดีส์คาดว่า การขยายตัวของจีดีพีในตลาดเกิดใหม่ที่สำคัญๆ จะอยู่ที่ประมาณ 5% ในปีนี้ ก่อนที่จะขยายตัวขึ้นสู่ระดับ 5.5% ใน 2 ปีถัดไป
  • ความเชื่อมั่นผู้บริโภคญี่ปุ่นกลับมาปรับตัวลงอีกครั้งในเดือน ต.ค.หลังจากกระเตื้องขึ้นในเดือนก่อนหน้า สะท้อนว่าประชาชนกำลังวิตกกังวลมากขึ้นว่า การปรับขึ้นภาษีการขายในปีหน้าอาจเป็นปัจจัยถ่วงเศรษฐกิจของประเทศ โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของครัวเรือนที่ประกอบด้วยสมาชิกอย่างน้อย 2 คน ปรับตัวลง 4.2 จุด จากเดือน ก.ย.แตะที่ระดับ 41.2 ซึ่งดัชนีที่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่าผู้มีมุมมองลบต่อเศรษฐกิจมีจำนวนมากกว่าผู้มีมุมมองบวก
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนี(Destatis) เผยดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีในเดือน ต.ค.ร่วงลงแตะ 1.2% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับแต่เดือน เม.ย.จากอัตรา 1.4% ในเดือน ก.ย.ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินเบื้องต้น โดยอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงดังกล่าวเป็นผลมาจากราคาเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลง 0.2% ในเดือนที่แล้ว แต่หากไม่รวมราคาพลังงานที่มีความผันผวน ดัชนี CPI เดือน ต.ค.ทรงตัวเมื่อเทียบรายเดือน แต่เพิ่มขึ้น 1.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี ปิดเพิ่มขึ้นในวันนี้ หลังตลาดหุ้นโตเกียวพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่ง โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรหมายเลข 331 ซึ่งเป็นมาตรวัดดอกเบี้ยระยะยาว อยู่ที่ 0.595% เพิ่มขึ้น 0.010% จากระดับปิดเมื่อวานนี้ ส่วนราคาสัญญาพันธบัตรอายุ 10 ปี ส่งมอบเดือน ธ.ค.ลดลง 0.10 จุด แตะที่ระดับ 144.95 ที่ตลาดหุ้นโตเกียว
  • สมาคมแลกเปลี่ยนทองคำและเงินของจีน เผยราคาทองคำที่ตลาดฮ่องกงลดลง 30 ดอลลาร์ฮ่องกง ปิดที่ระดับ 11,888 ดอลลาร์ฮ่องกง/ตำลึงในวันนี้ หรือราคาเทียบเท่ากับ 1,287.61 ดอลลาร์สหรัฐ/ทรอยออนซ์ ลดลง 3.25 ดอลลาร์สหรัฐ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ