นอกจากนี้ คณะผู้บริหารหอการค้าต่างประเทศได้สอบถามความคืบหน้าเรื่องการเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทย-สหภาพยุโรป(EU)ที่หยุดชะงักไปในช่วงรัฐประหาร ปี 49 ด้วย
ส่วนกรณีที่แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมประกาศมาตรการอารยะขัดขืนโดยการให้ประชาชนชะลอการจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลนั้น นายกิตติรัตน์ เชื่อว่า เรื่องนี้คงจะไม่เกิดขึ้นและน่าจะเป็นวลีที่ใช้ในการปราศรัยเท่านั้น เนื่องจากแกนนำเป็นผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมือง น่าจะมีความเข้าใจถึงหน้าที่ในการชำระภาษีดังกล่าวว่ารัฐจำเป็นต้องนำไปใช้ในการพัฒนาและบริหารประเทศ
ส่วนกรณีที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) เสนอให้ไทยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อรองรับอัตราเงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้นนั้น มองว่า IMF ควรศึกษาข้อมูลต่างๆ ของประเทศไทยให้รอบด้านก่อนที่จะมีการนำเสนอหรือมีข้อแนะนำใดๆ เพราะปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นหากมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัว ส่วนข้อเสนอที่ให้รัฐบาลทบทวนนโยบายรับจำนำข้าวโดยเปลี่ยนมาเป็นการชดเชยราคาสินค้าให้แก่เกษตรกรแทนนั้น คงต้องศึกษาว่าเหมาะสมกว่าแนวทางเดิมหรือไม่ แต่แนวทางปฏิบัติรัฐบาลจะเป็นผู้พิจารณาเอง
ด้านนายสแตนลีย์ คัง ประธานหอการค้าต่างประเทศ เห็นด้วยกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยที่มีความเป็นห่วงแนวทางอารยะขัดขืนของแกนนำม็อบที่มีการชักจูงให้ประชาชนนัดหยุดงาน เพราะมองว่าจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของภาคเอกชน จึงขอให้ทุกคนมาทำงานตามปกติ แต่หลังเลิกงานสามารถไปร่วมชุมนุมได้อย่างอิสระ เนื่องจากถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล
อย่างไรก็ดี นักลงทุนต่างชาติยังมีความมั่นใจกับการลงทุนในประเทศไทย เพราะเชื่อว่าทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายที่คัดค้านรัฐบาลจะสามารถตกลงร่วมกันได้ พร้อมมองว่าไทยยังถือเป็นประเทศที่น่าลงทุนทั้งในระยะปานกลางและระยะยาว