"เอ้กบอร์ด"สั่งทบทวนแผนยุทธศาสตร์ไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ เชื่อมภาคเอกชนและผู้เลี้ยงไก่ไข่ร่วมกำหนดปริมาณการบริโภคไข่ไก่ทั้งในประเทศและกลุ่มอาเซียน เพื่อกำหนดปริมาณการนำเข้าพ่อแม่พันธ์ที่เหมาะสมไม่กระทบด้านราคาไข่ไก่ของเกษตรกร คาดหลังเปิดเออีซีอัตราการบริโภคไข่ไก่ในปี '60 สูงขึ้นถึง 270 ฟอง/คน/ปี
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (เอ้กบอร์ด) ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณากรอบแผนยุทธศาสตร์ไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ปี 2556 - 2560 ซึ่งประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 เพิ่มการบริโภคและส่งเสริมการแปรรูปไข่ไก่ โดยดำเนินการในกลยุทธ์ต่างๆ เช่น การรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคไข่ไก่และขยายตลาดส่งออก ส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมการแปรรูปไข่ไก่ รวมถึงการส่งเสริมการวิจัย พัฒนาการผลิตและแปรรูปไข่ไก่เพื่อทดแทนการนำเข้า รองรับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความมั่นคงในอาชีพการเลี้ยงไก่ไข่ เช่น ส่งเสริมการเลี้ยงไก่ในพื้นที่โซนนิ่งและเร่งรัดเข้าสู่มาตรฐานฟาร์ม การรวมกลุ่มเกษตรกรให้เป็นสหกรณ์ และการบริหารจัดการวัตถุดิบอาหารสัตว์
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคไข่ไก่และผลิตภัณฑ์ ดำเนินการในเรื่องรับรองมาตรฐานฟาร์มและไข่ไก่และศูนย์รวบรวมไข่ไก่ (ล้งไข่) เพื่อสร้างการยอมรับให้ผู้บริโภคในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อมีการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ไก่ไข่ฯ แล้วในปี 2560 จะส่งผลให้มูลค่าทางเศรษฐกิจของไก่ไข่เพิ่มขึ้นคิดเป็น 80,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่จะมีความมั่นคงในอาชีพ และสร้างความมั่นคงในห่วงโซ่การผลิต ได้แก่ เกษตรกรปลูกพืชไร่เพื่อผลิตอาหารสัตว์ ผู้ผลิตปัจจัยการผลิต และอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้วย
แต่ทั้งนี้ ในที่ประชุมยังมีข้อสังเกตุในประเด็นต่างๆ เช่น งบประมาณดำเนินการที่ยังไม่ครอบคลุมในเรื่องการส่งเสริมภาคเอกชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไข่เรื่องการให้สินเชื่อปลอดดอกเบี้ย ที่อาจจะหารือร่วมกับ BOI และยุทธศาสตร์ไก่ไข่ฯ น่าจะขยายเป็นกรอบระยะเวลาถึง 10 ปีเพื่อให้แผนดำเนินการมีความต่อเนื่องและสร้างเสถียรภาพราคาไข่ไก่ได้ในระยะยาว โดยเฉพาะการนำความต้องการการบริโภคไข่ไก่ทั้งในประเทศ ปริมาณนักท่องเที่ยวในแต่ละปี รวมถึงเมื่อเข้าสู่เออีซีปริมาณผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้น
โดยประมาณการเบื้องต้นในปี 2560 การบริโภคไข่ไก่จะเพิ่มขึ้น จาก 200 ฟอง/คน/ปี เป็น 270 ฟอง/คน/ปี ที่จะนำมาสู่การวางแผนการผลิตไข่ไก่ของประเทศให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะการกำหนดปริมาณการนำเข้าพ่อแม่พันธ์ไก่ไข่ ซึ่งกรมปศุสัตว์จะประชุมร่วมกับภาคเอกชนและผู้เกี่ยวข้องที่เป็นคณะทำงานปรับแผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้ก่อนนำเข้ามาหารือในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์อีกครั้ง ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
นายยุคล กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ที่ประชุมได้รับทราบผลความคืบหน้าตามที่มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ตรวจสอบหาข้อเท็จจริงของไก่ไข่ที่ให้ผลผลิตต่ำกว่าเกณฑ์ และการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพไข่ไก่ ขณะนี้กรมปศุสัตว์ได้วางมาตรการตรวจฟาร์มไก่ไข่เป็นกรณีพิเศษโดยตั้งทีมเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อตรวจสอบทุกๆ 3 เดือน ได้แก่ การตรวจระบบความปลอดภัยทางชีวภาพในฟาร์มไก่ไข่ที่ได้มาตรฐานและไม่ได้มาตรฐาน สำรวจและตรวจสอบจำนวนไก่ไข่เข้าเลี้ยงใหม่ จำนวนแม่ไก่ไข่ปลดระวางและอัตราการให้ไข่/แม่/ปี สุ่มเก็บตัวอย่างไก่ป่วย อ่อนแอ หรือตาย จำนวน 2-5 ตัว/ฟาร์ม หรือ Cloacal swab 20 ตัว และตรวจสอบการใช้ยาและเวชภัณฑ์ในฟาร์มไก่ไข่ โดยที่กรมปศุสัตว์จะดำเนินการในฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ทั่วประเทศ เช่น จังหวัดสระบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก ชลบุรี อยุธยา ซึ่งครั้งที่ 1 ได้ดำเนินการไปเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม - 20 พฤศจิกายน 2556 โดยได้เริ่มสุ่มตรวจแล้วจำนวน 141 ฟาร์ม
ด้านสถานการณ์ด้านการตลาดและราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มที่เกษตรกรขายได้ในปัจจุบันลดลงจากช่วงที่ผ่านมาอยู่ที่ฟองละ 3.00 บาท ราคาขายปลีกไข่ไก่เบอร์ 3 ฟองละ 3.49 บาท ส่วนพันธุ์สัตว์ลูกไก่ไข่ราคาเฉลี่ยตัวละ 23 บาท ไก่ไข่สาว 18 สัปดาห์ เฉลี่ยตัวละ 150 บาท ขณะที่การส่งออกไข่ไก่สดปี 2556 ถึงเดือนกันยายนทั้งหมดจำนวน 218.97 ล้านฟอง คิดเป็นมูลค่า 615 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมาโดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น 149.77% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 127.83 %
ขณะที่ปริมาณนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (P.S) เข้าเลี้ยงตั้งแต่เดือน ม.ค.- ต.ค.56 มีการนำเข้าเลี้ยงจริงจำนวน 484,274 ตัว จากแผนการเลี้ยง P.S จำนวน 659,132 ตัว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 13.30 % ขณะที่ปริมาณการเคลื่อนย้ายไก่ไข่เข้าเลี้ยงตามใบอนุญาตเคลื่อนย้ายผ่านระบบ E-movement เป็นลูกไก่ไข่ 43.03 ล้านตัว และไก่ไข่ปลดระวาง 26.25 ล้านตัว ซึ่งลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาคิดเป็น 0.39 % และ 1.45 % ตามลำดับ ส่วนการนำเข้าไก่ไข่รุ่นเข้าเลี้ยงจำนวน 23.11ล้านตัว ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วคิดเป็น 2.48 % อย่างไรก็ตามได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ติดตามสถานการณ์การนำเข้าเลี้ยงจริงของปี 2556 ทั้งปีเพื่อประเมินผลผลิตไข่ไก่ที่จะออกสู่ตลาดในปี 2557 ต่อไป