ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยถูกพัฒนาด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตที่มีการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติและนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ แต่ไม่ได้พัฒนาความรู้และเทคโนโลยีด้วยตัวเอง การพึ่งพาอาศัยตลาดส่งออกไปยังตลาดโลก และการอาศัยแรงงานจำนวนมากราคาถูก โดยละเลยเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ โมเดลดังกล่าวไม่ได้สร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยื่น ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทำให้ประเทศไทยติดกับดักประเทศที่มีฐานะปานกลาง เพราะไทยมีการใช้นโยบายประชานิยมหรือการใช้สินเชื่อเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจแต่สามารถใช้ได้เพียงระยะสั้น เพราะสร้างความเสี่ยงต่อฐานะการคลังของภาครัฐ และเป็นแรงต้านไม่ให้ประเทศเจริญเติบโตได้ตามศักยภาพในระยะยาว เนื่องจากการดำเนินนโยบายดังกล่าว ทำให้ประชาชนมีหนี้สินสูงขึ้น ฉุดรั้งการใช้จ่ายในประเทศชะลอลง สะท้อนให้เห็นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2556 ที่เศรษฐกิจชะลอตัวจากการบริโภคที่หดตัวลงชัดเจน
นอกจากนี้ ยังเห็นว่าไทยกำลังเผชิญอุปสรรคที่เป็นข้อจำกัดต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการศึกษาและเทคโนโลยี โดยจากรายงานของ World Economic Forum พบว่าการจัดอันดับการศึกษาของไทยอยู่ที่ 66 จาก 148 ประเทศทั่วโลก และอันดับการพัฒนาความพร้อมในการเข้าสู่เทคโนโลยีอยู่ที่ 78 จาก 148 ประเทศทั่วโลก ซึ่งถือว่าไทยยังมีความล้าหลังอย่างมากจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ไทยต้องเร่งแก้ไข
ดังนั้น ทีดีอาร์ไอจึงเสนอว่าไทยควรใช้โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศแก่รัฐบาล ด้วยองค์ประกอบ 3 ประการ คือ 1.การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย 2.การสร้างความสมดุลระหว่างตลาดส่งออกโลก การลงทุนในภูมิภาค รวมถึงการสร้างกำลังซื้อในประเทศ และ 3.การเพิ่มผลิตภาพของแรงาน กระบวนการปรับค่าตอบแทน ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม