สภาพัฒน์คาดGDPปี 57 โต 4-5% ได้แรงหนุนจากศก.โลกฟื้น-ส่งออก-ลงทุนภาครัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 18, 2013 12:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยว่า สภาพัฒน์คาดการณ์การอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 57 ว่าจะเพิ่มขึ้น 4.0-5.0% โดยมีปัจจัยหนุนที่สำคัญมาจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกจาก 2.9% ในปี 56 มาเป็น 3.5% ในปี 57 ซึ่งจะทำให้ภาคการส่งออกและภาคการผลิตขยายตัวดีขึ้นจากที่ขยายตัวต่ำเพียง 3.1%ในปี 55 และคาดว่าจะไม่ขยายตัวเลยในปี 56

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหนุนจากการดำเนินการตามแผนการลงทุนของภาครัฐ ทั้งในด้านการลงทุนภายใต้แผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท และแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ขณะเดียวกันแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ตามแนวโน้มการเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ของราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งจะเอื้ออำนวยต่อการดำเนินโยบายการเงินแบบผ่อนคลายและสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ การประเมินว่าปี 57 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 4.0-5.0% อยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่า 1.เศรษฐกิจโลกในปี 57 ขายตัว 3.5% และปริมาณการค้าโลกขยายตัวได้ 4.5% 2.ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 57 อยู่ในช่วง 105-110 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ เมื่อเทียบกับในปี 56 ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก 3.ค่าเงินบาทเฉลี่ยที่ระดับ 31.50-32.50 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับค่าเฉลี่ยในปี 56 ที่ประมาณ 30.50 บาท/ดอลลาร์ โดยปัจจัยที่ทำให้บาทอ่อนค่าลงมาจากการปรับลดขนาดมาตรการ QE ของสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มปรับลดขนาดลง 1 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือนในช่วงไตรมาสแรกปี 57 และยุติมาตรการได้ภายในสิ้นปี 57

4.ราคาเสินค้าส่งออก และนำเข้าในรูปของดอลลาร์ในปี 57 เพิ่มขึ้น 0.5-1.5% และ 0.0-1.0% ตามลำดับ ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยตามภาวะราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าขั้นปฐมในตลาดโลกที่ยังอ่อนตัว 5.นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยปี 57 ที่คาดว่าจะมีจำนวน 28 ล้านคน เพิ่มขึ้น 6.8% จากปีนี้ที่คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 26.2 ล้านคน และ 6.การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐทั้งปี ต้องไม่ต่ำกว่า 95% ของวงเงินงบประมาณ ขณะที่การเบิกจ่ายแผนบริหารจัดการน้ำต้องไม่ต่ำกว่า 70% ของกรอบการจัดหาเงินประมาณ 66,522 ล้านบาท และการเบิกจ่ายภายใต้แผนลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ไม่ต่ำกว่า 70% ของกรอบการจัดหาเงินในปี 57 ที่ประมาณร 160,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดอีก 4 ด้านต่อเศรษฐกิจไทยในปีหน้า คือ 1.การส่งออกมีความเสี่ยงจะขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ จากผลของการลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาและต้นทุนการผลิตของไทยและภูมิภาคเอเชียในภาพรวม อีกทั้งราคาสินค้าเกษตรและสินค้าขั้นปฐมในตลาดโลกยังมีแนวโน้มอ่อนตัวตามการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของอุปสงค์ในตลาดโลกและปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น

2.การใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังมีข้อจำกัดในการขยายตัว เนื่องจากฐานการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนที่สูงในช่วงครึ่งแรกของปี 56, ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ รวมทั้งมีการเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินภายใต้ภาวะหนี้สินภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

3.การขยายตัวภาคการลงทุนยังมีข้อจำกัด เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินเยน ซึ่งทำให้ต้นทุนของการลงทุนในประเทศไทยในสายตานักลงทุนญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้น, การชะลอการลงทุนเพื่อรอความชัดเจนของการลงทุนภายใต้แผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง

4.การประกาศบังคับใช้กฎหมายด้านการท่องเที่ยวฉบับใหม่ของจีน ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 1 ต.ค.56 ทำให้ต้นทุนการเดินทางออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศของนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มสูงขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย

นายอาคม มองว่า การบริหารเศรษฐกิจไทยในปี 57 จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับ 1.การเร่งรัดการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้เต็มศักยภาพ โดยเพิ่มรายได้จากตลาดหลัก ตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ รวมทั้งส่งเสริมการค้าชายแดนและการค้าในภูมิภาค 2.เร่งรัดการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยเร่งรัดการใช้นโยบายส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนภายใต้ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนให้มีความชัดเจน และแก้ไขปัญหาอุปสรรคตลอดกระบวนการที่ทำให้การดำเนินโครงการลงทุนภาคเอกชนมีความล่าช้า

3.การเร่งรัดการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ และแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

4.การดูแลสภาพคล่องของระบบเศรษฐกิจ และการเข้าถึงเงินทุนของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงการขยายประเภทหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อ การส่งเสริมการประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และการจัดตั้งกลไกร่วมลงทุนในธุรกิจใหม่ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในปี 57 สภาพัฒน์ประเมินว่า การส่งออกจะขยายตัวได้ 7% ที่มูลค่า 241,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนการนำเข้าขยายตัวได้ 6.7% ที่มูลค่า 236,000 ล้านดอลลาร์ คาดว่าจะเกินดุลการค้าราว 5.8 พันล้านดอลลาร์ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 2.5 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่เงินเฟ้ออยุ่ในกรอบ 2.1-3.1%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ