ทั้งนี้ สภาพัฒน์ ระบุว่า เศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3/56 ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้า การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคครัวเรือนลดลง เนื่องจากการซื้อสินค้าคงทนประเภทยานยนต์ลดลงมากจากฐานสูงในปีก่อน และการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนลดลง ภาคการส่งออกในไตรมาส 3/56 หดตัว 1.8% แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนอยู่บ้างจากการขยายตัวของการใช้จ่ายภาครัฐ ขณะที่การส่งออกสินค้าหดตัว ส่วนด้านการผลิตพบว่ายังมีการขยายตัวที่ได้ปัจจัยหนุนจากสาขาโรงแรม ภัตตาคาร การเงิน และคมนาคมขนส่งที่ยังขยายตัว
แต่ทั้งปี 56 การเติบโตของเศรษฐกิจต่ำกว่าช่วงประมาณการเดิม เนื่องจากการส่งออกขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ รวมทั้งปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งปีมีแนวโน้มต่ำกว่าเป้าหมายของภาคเอกชนที่ตั้งไว้ 2.5 ล้านคัน ขณะที่การดำเนินการของแผนการลงทุนที่สำคัญของภาครัฐไม่เป็นไปตามเป้าหมาย รวมทั้งยังมีผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย ซึ่งคาดว่าสการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์จะไม่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ขณะที่การบริโภคโดยรวม คาดว่าจะโต 1.6% การลงทุนโดยรวมโต 0.9%, การนำเข้าโต 0.6%, ดุลการค้าเกินดุล 4.7 พันล้านดอลลาร์, ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 3.6 พันล้านดอลลาร์ และอัตราเงินเฟ้อยู่ที่ 2.4%
เลขาสภาพัฒน์ ไม่ขอประเมินว่าจีดีพีทั้งปีที่ทางสภาพัฒน์มองว่าโต 3% นั้นถือว่าเป็นการปรับตัวดีขึ้นหรือลดต่ำลง เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยมีผลมาจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว
"อย่าไปคิดว่าผงกหัวหรือต่ำลง มันมาจากเหตุการณ์ข้างนอก เพราะเศรษฐกิจโลกไม่ฟื้น เราก็ขายของไม่ได้ ซึ่งต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น"นายอาคม กล่าว
พร้อมระบุว่า การประเมินจีดีพีในปีนี้ไว้ที่ 3% ได้รวมการประเมินสถานการณ์ทางการเมืองในระดับปกติไว้ด้วยแล้ว โดยสภาพัฒน์เชื่อว่าการเมืองในช่วงนี้จะไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของไทย อาจจะมีบ้างที่กระทบต่อการท่องเที่ยว แต่ทั้งนี้พื้นที่การชุมนุมสำคัญจะอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งก็ไม่ได้กระทบต่อการท่องเที่ยวในภาพรวมของประเทศ
"เรามองว่าการท่องเที่ยวไม่ใช่แค่ในกทม. แต่อยู่ในภูมิภาคเป็นส่วนใหญ่ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ ซึ่งนักท่องเที่ยวก็บินตรงไปอยู่แล้ว เราจึงคิดว่าการท่องเที่ยวไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมือง" เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุ
ส่วนปัญหาทางการเมืองในปีนี้อันอาจจะนำไปสู่การยุบสภาในปีหน้า จะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 57 หรือไม่นั้น เลขาสภาพัฒน์ กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ไม่มีในสมมติฐาน
ส่วนการส่งออกในปีนี้ที่คาดว่าการขยายตัวจะเป็น 0%นั้น ยังถือว่าไม่ได้ร้ายแรง เพราะหลายประเทศต่างๆ ในอาเซียนและในเอเชียเองต่างก็ประสบปัญหาการส่งออกเช่นเดียวกับไทย บางประเทศการส่งออกถดถอยติดกัน 7-8 ไตรมาส ดังนั้นมองว่าสถานการณ์การส่งออกของไทยถือว่าไม่ร้ายแรง และยังมีโอกาสที่การส่งออกจะขยายตัวได้ในปีหน้าในระดับ 5-7 %
นายอาคม กล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 57 จะมีปัจจัยสนุนมาจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก การดำเนินการตามแผนการลงทุนของภาครัฐทั้งการบริหารจัดการน้ำ และการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ต่ำ