ส่วนการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐหดตัวเหนือความคาดหมาย โดยการลงทุนภาคเอกชนหดตัว 3.3% จากที่ขยายตัว 2.0% ในไตรมาสก่อน โดยการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 80% ของการลงทุนภาคเอกชนหดตัว 5.7% แต่การลงทุนในด้านการก่อสร้างยังขยายตัวได้ 4.8%
นอกจากนี้การลงทุนภาครัฐหดตัวสูงถึง 16.2% จากที่ขยายตัว 15.4%ในไตรมาสก่อน โดยการลงทุนของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นหดตัว 22.3% และการลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัว 37.5% เนื่องจากไตรมาส 3 ปีนี้ไม่มีการนำเข้าเครื่องบินโดยสารเหมือนกับไตรมาส 3 ปีที่แล้ว
ด้านการส่งออกสุทธิขยายตัวได้จากรายรับภาคการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง แม้ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้า ณ ราคาคงที่หดตัว 1.4%ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน แต่รายรับภาคบริการขยายตัวถึง 25.5% เร่งขึ้นจาก 22.4% ในไตรมาสก่อน เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะจีน อาเซียน และยุโรป เพิ่มขึ้นในระดับสูง ในขณะที่การนำเข้าสินค้าหดตัว 0.5% ซึ่งเป็นการหดตัวทั้งการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและการนำเข้าเครื่องจักร ตามการบริโภคและการลงทุนที่ชะลอตัว ส่งผลให้การส่งออกสุทธิขยายตัวได้ 18.6%
สำหรับการลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐที่หดตัวในไตรมาส 3 อาจทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวต่ำกว่าที่ EIC ประมาณการไว้เดิมที่ 3.4% โดยการลงทุนภาคเอกชนในปี 2556 อาจขยายตัวต่ำกว่า 2.9% และการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่า 12.7% ตามที่ EIC ได้ประเมินไว้เดิม ซึ่งสะท้อนว่าการใช้จ่ายในประเทศของไทยค่อนข้างอ่อนแอกว่าที่คาด
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปียังมีความเสี่ยงทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อภาวะการท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างประเทศ หากความไม่สงบทางการเมืองยังมีความยืดเยื้อ อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นไตรมาสที่สำคัญของการท่องเที่ยว นอกจากนี้การลงทุนจากต่างประเทศจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากหากนักลงทุนต่างชาติไม่มั่นใจในเสถียรภาพทางการเมืองของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายภาครัฐต่างๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางการเมือง