(เพิ่มเติม) "ทนง"ติงประชานิยมทำปท.ติดกับดักรายได้-TDRI ชี้นโยบายรัฐยิ่งทำสังคมเหลื่อมล้ำ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 18, 2013 18:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทนง พิทยะ อดีต รมว.คลัง กล่าวในงานสัมมนา"โมเดลใหม่ในการพัฒนา สู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพโดยการเพิ่มผลิตภาพ" ว่า จากที่รัฐบาลนำนโยบายประชานิยมมาใช้ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถเพิ่มรายได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการทำให้ประเทศไม่มีการพัฒนาต่อไปได้ หรือเรียกว่ากับดักรายได้ของประเทศ เห็นได้จากอัตราการว่างงานที่ต่ำอยู่เพียงร้อยละ 1 แต่แม้จะมีการจ้างงานเกือบหมด แต่ผลผลิตยังคงเติบโตได้ 3-4% ต่อเดือน ซึ่งทำให้ประเทศไม่สามารถขยายตัวต่อไปได้หรือเพิ่มการลงทุนได้อีก

ทั้งนี้ เมื่อประเทศมีการออกนโยบายประชานิยม โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าแรง ทำให้นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมองว่าไทยมีต้นทุนด้านค่าแรงสูงกว่าประเทศอื่น จึงมีการเคลื่อนย้ายการลงทุนไปยังประเทศที่มีต้นทุนถูกกว่า โดยขณะนี้จะเห็นได้ว่าการเข้ามาลงทุนของต่างชาติมีจำนวนน้อยลง แต่กลับมีการเข้าไปขยายการลงทุนในเวียดนามและอินโดนีเซียมากขึ้น

"ปัญหาเรื่องแรงงาน หรือการปรับโครงสร้างประชากรต้องมีการกำหนดกลยุทธ์ที่ชัดเจน บางนโยบายในปัจจุบันมีการจัดสรรการใช้เงินในทางที่ไม่ถูก ทำให้ประสิทธิภาพในการใช้เงินน้อยลง ซึ่งการกำจัดความยากจนต้องเริ่มคิดแล้วว่าจะทำอย่างไรที่จะสามารถพัฒนาประเทศไปสู่ศูนย์กลางการผลิตแห่งอาเซียน ต้องคิดที่จะออกไปลงทุนข้างนอกประเทศเพื่อปรับโครงสร้างทางแรงงาน และต้องเร่งพัฒนาแรงงานที่หายากในปัจจุบัน โดยมองว่าในที่สุดแล้วทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของรัฐบาลในแง่ของการบริหารงาน ซึ่งนโยบายประชานิยมเหล่านี้เป็นอันตรายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ" อดีต รมว.คลัง กล่าว

นอกจากนี้ ในเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง มูลค่า 2 ล้านล้านบาทนั้น มองว่าการให้อำนาจรัฐบาลออกเป็น พ.ร.บ.แบบรวบรัดในฉบับเดียว จะไม่สามารถคัดเลือกโครงการที่เหมาะสมได้และไม่มีการชี้แจงรายละเอียดการใช้หนี้ที่ชัดเจน ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลจะแสดงตัวเลขระดับหนี้สาธารณะไม่เกิน 50% ของจีดีพี แต่เมื่อประเมินโครงการต่างๆ เชื่อว่าในระยะยาวระดับหนี้สาธารณะจะเกิน 50% ของจีดีพีอย่างแน่นอน

นายทนง กล่าวอีกว่า สำหรับการส่งออกของไทยในปีนี้ที่สภาพัฒน์คาดจะโตได้ 0%นั้น มองว่าการส่งออกขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยคือ ความต้องการจากต่างประเทศที่มองว่าไม่ได้ลดลง แต่ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง เพราะหลายประเทศสามารถผลิตสินค้าที่ทดแทนการส่งออกสินค้าจากไทยได้แล้ว เช่น ข้าวของเวียดนาม เป็นต้น

ด้านนายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ผ่านมาสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมเพิ่มมากขึ้น โดยเมื่อพิจารณาจากนโยบายภาคการคลังจะพบว่ารัฐบาลมีการเก็บภาษีของคนมีรายได้น้อยมากกว่าคนที่มีรายได้สูงหรือคนรวย นอกจากนี้ยังพบว่า รัฐบาลใช้เงินภาษีไปให้กับคนรวยมากกว่าคนจน

ส่วนโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล หากคิดว่ามีผลขาดทุนปีละ 1.5 แสนล้านบาท จากงานวิจัยของทีดีอาร์ไอพบว่า มีเงินเพียง 3 หมื่นล้านบาท เท่านั้นที่ตกอยู่ในมือของชาวนาที่ยากจน ที่เหลืออีก 1.2 แสนล้านบาท ตกอยู่กับชาวนาที่มีฐานะดี ผู้ประกอบการโรงสี ผู้ส่งออกบางราย นักการเมือง ข้าราชการ และชาวนาต่างประเทศ ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของไทยไม่ได้ลดลง

"เป็นเรื่องที่น่าละอายใจของประเทศไทย ที่การดำเนินนโยบายภาคการคลังของรัฐบาล นอกจากไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้แล้ว ยังกลับพบว่าเพิ่มให้มีการเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากขึ้นอีกด้วย" นายสมชัย กล่าว

นายสมชัย กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจทำให้มีช่องว่างของคนด้อยโอกาสสูงขึ้น ทั้งในวัยเด็ก คนทำงาน และคนแก่ จำนวนมากที่ไม่ได้รับการดูแลเพียงพอจากรัฐบาล เช่น ในส่วนเด็กเล็กพบว่ามีเด็กเพียง 1 ล้านคน จากทั้งหมด 5 ล้านคน ที่ได้รับเข้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ขณะที่คนทำงานส่วนใหญ่พบว่าไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมถึง 70% ของแรงงานทั้งหมด แม้ว่าจะแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้ตามมาตรา 40 แต่ก็ยังเป็นเพียงแรงงานนอกระบบส่วนน้อยเท่านั้น ส่วนคนชราก็พบว่ามีอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับการดูแลจากรัฐบาลยังเพียงพอ

ทั้งนี้ จากการประเมินของทีดีอาร์ไอหากรัฐบาลจะจัดสวัสดิการให้กับกลุ่มทั้ง 3 กลุ่ม จะใช้เงิน 8.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากรัฐบาลยกเลิกโครงการจำนำข้าวเพียงอย่างเดียวก็สามารถนำเงินมาช่วยคนจนทั้งประเทศให้มีสวัสดิการได้อย่างเพียงพอ

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และอดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้นโยบายประชานิยมเริ่มเบาบางลงมากพอสมควร โดยบุคคลที่อยู่ในฐานะรมว.คลัง ต้องเริ่มเข้าใจมากขึ้น เพราะไม่ใช่เป็นเพียงแค่สร้างงบประมาณรายจ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่รายจ่ายบางอย่างอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่ทำให้หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง

"มีข้อพิสูจน์แล้วว่าค่าใช้จ่ายบางอย่างไม่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่มีผลต่อการทำให้เศรษฐกิจหดตัวลง สังเกตได้จากในระยะหลัง Growth ปรับตัวลง แต่เรามีการขาดดุลมาตลอด หากขาดดุลจากการลงทุนรถไฟรางคู่ มองว่าไม่เป็นไร เพราะมันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ส่งผลในระยะยาว" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

ทั้งนี้ หากในปี 57 มีการดำเนินนโยบายประชานิยมต่อ มองว่าขึ้นอยู่กับว่ามีการดำเนินการโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทหรือไม่ ซึ่งงบประมาณจำนวน 1.5 ล้านล้านบาท จะส่งผลบวกต่อการพัฒนาประเทศอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นรถไฟรางคู่ หรือท่าเรือน้ำลึกต่างๆ ขณะที่อีก 5 แสนล้านบาท มองว่ายังไม่แน่ใจจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจหรือไม่ เนื่องจากรถไฟฟ้าความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-หัวหิน ประชาชนที่จะใช้บริการนั้นค่อนข้างมีน้อย ควรกลับไปศึกษาให้ดีก่อน

"หากสามารถคัดให้เหลือแค่บวกอย่างเดียวเศรษฐกิจจะดีขึ้น และถ้ารายจ่ายประชานิยมบางเรื่อง เช่น โครงการรับจำนำข้าว ที่ขาดทุก 2 แสนล้านบาทต่อปี ขอให้เลิกเพราะมันจะถ่วงเศรษฐกิจ" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 57 มองว่าจะเติบโตดีกว่าปีนี้ หลังจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับมาขยายตัวอย่างรวดเร็ว ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีสถิติการจ้างงานดีขึ้น และเศรษฐกิจสหภาพยุโรปไม่หดตัวอีกต่อไปแล้ว ซึ่งจะส่งผลต่อการสั่งสินค้าจากเอเชียดีขึ้น และการส่งออกของไทยก็จะดีขึ้นตาม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ