ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายแผนและพลังงาน(สนพ.)ทบทวนค่าไฟฟ้าส่งเสริมพลังงานทดแทนทั้งระบบ โดยให้ปรับเป็นค่าสนับสนุนเงินตามการลงทุนที่แท้จริง(Feed in tariff)ทดแทนระบบค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม(Adder) โดยมีเป้าหมายคือผลตอบแทนการลงทุนไม่เกิน 12%และไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าฐานมากเกินไป
สำหรับ Feed in Tariff ที่ปรับใหม่ค่าไฟฟ้าที่ปรับเป็น 4 อัตรา เพื่อส่งเสริมให้โรงไฟฟ้าขนาดเล็กได้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น ชุมชนระดับเล็กๆ สามารถเข้าลงทุนได้มากขึ้น และโรงใหญ่จะได้ค่าไฟฟ้าต่ำกว่า แบ่งออกเป็น 1. โรงไฟฟ้าขนาดไม่เกิน 0.3 เมกะวัตต์ 2. ขนาด 0.3-1 เมกะวัตต์ 3. ขนาด1-3 เมกะวัตต์ และ 4. ขนาด 3-10 เมกะวัตต์
รมว.พลังงาน คาดว่าการศึกษาแนวทางดังกล่าวจะเสร็จสิ้นโดยเร็ว จากนั้นจะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ภายในเดือน ธ.ค.56 พร้อมกับการเสนอให้ขยายการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อป และการปรับปรุงแผนพัฒนาไฟฟ้า(พีดีพี)ฉบับใหม่ โดยจะดูแลอัตราค่าไฟฟ้าในระยะ 10 ปีข้างหน้าไม่ให้สูงกว่าเดิมที่กำหนดไว้เฉลี่ย 5 บาท/หน่วย
สำหรับโรงไฟฟ้าที่ต้องปลดออกจากระบบตลอดแผนพีดีพีมี 13,000 เมกะวัตต์จะจัดหาเชื้อเพลิงที่มาทดแทนให้ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเพียง 6,500 เมกะวัตต์ และอีก 6,500 เมกะวัตต์จะเลือกใช้พลังงานชนิดอื่น เช่น พลังงานน้ำ ถ่านหิน นิวเคลียร์ และการซื้อไฟฟ้าต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้สัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าเหลือ 35-40% จากปัจจุบันอยู่ที่ 67% ถ่านหินจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 30% จากปัจจุบัน 20% รวมทั้งการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น
รมว.พลังงาน กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์นั้น ภาคเอกชนร้องเรียนว่ การคำนวณค่าไฟฟ้าของ สนพ. อาจผิดพลาด ค่าไฟฟ้าที่ให้อัตรา feed in tariff 4.50 บาท/หน่วย 20 ปี บนพื้นฐานค่ารับซื้อหญ้า 300 บาท/ตัน เป็นอัตราที่ไม่ถูกต้อง เพราะต่ำเกินไป เนื่องจากต้นทุนสูงกว่านี้ บางแห่งสูงกว่า 600 บาท/ตัน เมื่อรวมค่าแรงงานและค่าปุ๋ยถึง 4,000 บาทต่อตัน ทำให้เกษตรกรไม่สนใจปลูกหญ้าเนเปียร์มากนัก จึงมอบหมายให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.)ไปศึกษาวิธีการเพิ่มผลผลิตหญ้าเนเปียร์ต่อไร่ให้มากขึ้นประกอบด้วย