อย่างไรก็ตาม คาดว่าพืชหลายชนิดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวนาปี ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย ทุเรียน และมังคุด ขณะที่ผลผลิตปศุสัตว์มีทิศทางเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานและการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ สำหรับสาขาประมงยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่องจากปัญหาการระบาดของโรค EMS ในกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไม่สามารถปรับตัวได้ทันภายในปี 2556 อย่างไรก็ตาม กรมประมงร่วมกับภาคเอกชนได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อยับยั้งความเสียหายจากโรคระบาดดังกล่าว และคาดว่าการผลิตกุ้งจะเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงปี 2557
ทั้งนี้ เมื่อจำแนกแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในภาพรวมของปี 2556 เป็นรายสาขา พบว่า สาขาพืช คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 — 3.0 เนื่องจากผลผลิตพืชที่สำคัญหลายชนิดยังคงมีทิศทางเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวนาปี ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ต่าง ๆ แม้ว่าพื้นที่ทางการเกษตรบางส่วนจะประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม รวมถึงมีการแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืชบ้าง แต่ในภาพรวมแล้วสาขาพืชยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง
สำหรับสถานการณ์ด้านราคาพืชหลายชนิด ได้แก่ ข้าวนาปีหอมมะลิ มันสำปะหลัง สับปะรด รวมทั้งผลไม้ เช่น ลำไย ทุเรียน และเงาะ มีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี เพราะความต้องการจากตลาดในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ด้านการส่งออก คาดว่าพืชและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าวรวม ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน น้ำตาลและผลิตภัณฑ์ ผลไม้และผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นไปตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่มูลค่าการส่งออกมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่องในประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่
สาขาปศุสัตว์ คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.2 — 2.2 เมื่อเทียบกับปี 2555 เนื่องจากการพัฒนาฟาร์มปศุสัตว์ให้เป็นระบบการเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน การเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง และการขยายการเลี้ยงเพื่อตอบสนองต่อความต้องการบริโภคในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ปริมาณการผลิตสินค้าปศุสัตว์ส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่การส่งออกจะขยายตัวได้เล็กน้อย โดยการส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปมีทิศทางลดลง แต่การส่งออกสินค้าปศุสัตว์ทั้งเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ เนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ ไปยังตลาดอาเซียนและตะวันออกกลางจะขยายตัวได้จากความเชื่อมั่นในมาตรฐานการผลิตและคุณภาพสินค้าของไทย
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังภาวะโรคระบาดและภัยธรรมชาติ ที่อาจส่งผลต่อปริมาณการผลิตปศุสัตว์ในช่วงปลายปี รวมถึงการควบคุมระดับผลผลิตที่ออกสู่ตลาดไม่ให้เกิดภาวะสินค้าล้นตลาดเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา โดยราคาปศุสัตว์ในปี 2556 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์และค่าแรงงาน
สาขาประมง คาดว่าจะหดตัวลงจากปี 2555 อยู่ในช่วงร้อยละ (-7.1) — (- 6.1) เป็นผลมาจากปัญหาโรคตายด่วนหรือโรค EMS ในกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง ซึ่งกรมประมงร่วมกับภาคเอกชนได้ดำเนินมาตรการเชิงรุก เพื่อยับยั้งความเสียหายจากโรคระบาดดังกล่าว โดยการป้องกันและการบริหารจัดการในระหว่างการเลี้ยง รวมไปถึงมาตรการ Clean-up โรงเพาะฟักลูกกุ้ง ส่งผลให้สถานการณ์การระบาดเริ่มคลี่คลายลงบ้างแล้ว และคาดว่าการผลิตจะมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงปี 2557 สำหรับผลผลิตจากการทำประมงทะเลมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ในส่วนของผลผลิตประมงน้ำจืดในปี 2556 คาดว่ามีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อย สำหรับราคาสินค้าประมงที่เกษตรกรขายได้ คาดว่าจะอยู่ในเกณฑ์ดี หากสามารถผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของตลาด เพราะความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศยังมีอย่างต่อเนื่อง
สาขาบริการทางการเกษตร คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.8 — 1.8 เนื่องจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชที่สำคัญ เช่น ข้าว อ้อยโรงงาน และมันสำปะหลัง ประกอบกับการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร รวมทั้งค่าจ้างแรงงานภาคเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรหันมาใช้บริการทางการเกษตร อาทิ รถแทรกเตอร์ รถเกี่ยวนวดข้าว และรถตัดอ้อย เพื่อทดแทนแรงงานคนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 รวมทั้งปัญหาน้ำท่วมในช่วงปลายปี ทำให้การบริการทางการเกษตรเพิ่มขึ้นไม่มากนัก
สาขาป่าไม้ คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2555 อยู่ในช่วงร้อยละ 1.0 - 2.0 เพราะการผลิตสาขาป่าไม้ในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาของปี 2556 สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 คาดว่าการผลิตสาขาป่าไม้ จะยังคงขยายตัวได้ เนื่องจากโดยปกติในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี การผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์สาขาป่าไม้จะขยายตัวได้ดีกว่าทุกไตรมาส
อย่างไรก็ตาม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) จะทำการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรที่เป็นตัวเลขสรุปตลอดทั้งปี 2556 รวมถึงคาดการณ์แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรของปี 2557 โดยจะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐ เอกชน เกษตรกรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางภาคเกษตรได้รับทราบถึงทิศทางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจการเกษตร สำหรับใช้เป็นประโยชน์ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป