ส่วนการปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศของรัฐบาลในเดือนตุลาคม 2556 กระทรวงการคลังได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้จำนวน 139,006 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 1) การออกตั๋วเงินคลังเพื่อบริหารดุลเงินสดภายใต้ พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะฯ พ.ศ. 2548 จำนวน 114,006 ล้านบาท 2) กระทรวงการคลังได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลและเงินกู้ที่ออกภายใต้ พ.ร.ก. ช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ (FIDF 1) ที่ครบกำหนดจำนวน 25,000 ล้านบาท โดยการกู้เงินระยะสั้น 15,000 ล้านบาท และเงินทดรองจ่ายที่ยืมจากบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลัง (Premium FIDF 1 และ FIDF 3) จำนวน 10,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ได้มีการออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 3,670 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้คืนเงินทดรองจ่ายที่ยืมจากบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลัง (Premium FIDF 1 และ FIDF 3) ในเดือนก่อนหน้า
ขณะที่ในเดือนตุลาคม 2556 นี้ไม่มีการกู้เงินล่วงหน้า (Pre-funding), ไม่มีการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน และไม่มีการบริหารจัดการหนี้ต่างประเทศของรัฐบาล ในการบริหารจัดการหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลเพื่อลดต้นทุนเงินกู้และป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน
สำหรับการชำระหนี้ของรัฐบาลในเดือนตุลาคม 2556 กระทรวงการคลังได้ชำระหนี้เป็นเงินจำนวน 122,210.61 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 1.การชำระหนี้ของรัฐบาลจากงบประมาณชำระหนี้ เป็นจำนวน 2,467.17 ล้านบาท ดังนี้ การชำระหนี้ในประเทศ 1,987.30 ล้านบาท โดยเป็นการชำระดอกเบี้ย 1,987.15 ล้านบาท และค่าธรรมเนียม 0.15 ล้านบาท และการชำระหนี้ต่างประเทศ 479.87 ล้านบาท โดยเป็นการชำระต้นเงิน 327.78 ล้านบาท ดอกเบี้ย 148.32 ล้านบาท และค่าธรรมเนียม 3.77 ล้านบาท
การชำระหนี้ของรัฐบาลจากแหล่งอื่น เป็นจำนวน 119,743.44 ล้านบาท ดังนี้ 1)การไถ่ถอนตั๋วเงินคลังโดยใช้เงินจากบัญชีเงินคงคลัง จำนวน 116,141 ล้านบาท 2)การชำระต้นเงินกู้ภายใต้ พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 จำนวน 516.67 ล้านบาท โดยใช้เงินที่สำนักงบประมาณจัดสรรให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เพื่อชำระหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังได้ปรับโครงสร้างหนี้แทนหน่วยงาน ซึ่งหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ต่างประเทศที่กระทรวงการคลังค้ำประกันและรัฐบาลรับภาระ 3)การชำระดอกเบี้ยเงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก. ช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ (FIDF 1)จำนวน 2,032.89 ล้านบาท และการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.ช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูระยะที่สองฯ (FIDF 3)จำนวน 1,052.88 ล้านบาท โดยใช้เงินจากบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ 2
ทั้งนี้ แหล่งเงินที่นำเข้าบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ 2 ประกอบด้วย (1) เงินกำไรสุทธิของธนาคารแห่งประเทศไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 (2) เงินที่สถาบันการเงินนำส่งธนาคารแห่งประเทศไทย (3) เงินหรือสินทรัพย์ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และ (4) เงินโอนจากบัญชีกองทุนเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ฯ
ส่วนการบริหารจัดการหนี้รัฐวิสาหกิจนั้น ผลการกู้เงินในประเทศของรัฐวิสาหกิจในเดือนตุลาคม 2556 รัฐวิสาหกิจได้มีการกู้เงินในประเทศเป็นเงิน 1,300 ล้านบาท ขณะที่การปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจในเดือนตุลาคม 2556 รัฐวิสาหกิจได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศเป็นเงิน 6,000 ล้านบาท