สภาพัฒน์ เผยอัตราว่างงาน Q3/56 เพิ่มขึ้น 0.77% จากศก.ชะลอ-หนี้สินสูง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 25, 2013 11:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ เผยภาวะสังคมไทยในช่วงไตรมาส 3 ปี 56 การจ้างงานลดลงร้อยละ 1.2 โดยเป็นการลดลงทั้งภาคเกษตรและภาคนอกเกษตร ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยในเขตเมืองมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 3,248 บาท ส่วนภาวะหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงสุดอยู่ที่ 232,223 บาท

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ทางด้านสังคมในช่วงไตรมาส 3/56 พบว่า การจ้างงานลดลงร้อยละ 1.2 เป็นการลดลงทั้งภาคเกษตรและภาคนอกเกษตร อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 0.77 ซึ่งมีสาเหตุจาก 2 ประเด็นคือ (1) เศรษฐกิจชะลอตัวลง ส่งผลให้เกิดการว่างงานทั้งผู้ที่เคยทำงานมาก่อน และผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อน สอดคล้องกับจำนวนผู้สมัครงานที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าตำแหน่งงาน รวมทั้งเป็นช่วงการว่างงานตามฤดูกาลช่วงเพาะปลูก (2) กำลังแรงงานลดลง แม้ว่าอัตราการว่างงานสูงขึ้นในระดับร้อยละ 0.77 แต่ยังเป็นอัตราการว่างงานที่ต่ำและไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมและเสถียรภาพเศรษฐกิจ ค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนภาคเอกชนที่ยังไม่รวมค่าล่วงเวลาและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นในช่วงไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 ทำให้ค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนภาคเอกชนแท้จริงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 9.3 ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9

"ภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวลงและความไม่แน่นอนทางการเมืองที่มีผลต่อบรรยากาศการลงทุน อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการขยายตำแหน่งงาน การขาดแคลนแรงงานระดับล่างในสาขาก่อสร้าง แม้ในปัจจุบันจะมีการทำข้อตกลงเพื่อนำเข้าแรงงานต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านมาทำงานประเภทดังกล่าว แต่ในกระบวนการนำเข้าแรงงานต่างด้าวต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 2 เดือน รวมถึงเงื่อนไขการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างชาติระหว่างพื้นที่ ที่ต้องจดทะเบียนใหม่และมีค่าใช้จ่ายทำให้เป็นข้อจำกัดต่อการดำเนินงานของธุรกิจ ซึ่งเป็นข้อจำกัดและทำให้ปัญหาขาดแคลนแรงงานระดับล่างยังมีต่อเนื่องและเป็นปัญหามากขึ้น ซึ่งต้องมีการบริหารจัดการทั้งการวางแผนล่วงหน้าในการนำเข้าแรงงานต่างชาติ และสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีแทนการใช้แรงงาน" นายอาคม กล่าว

โดยเด็กที่มาจากครอบครัวผู้มีรายได้น้อยยังคงมีโอกาสทางการศึกษาน้อย ชี้ว่าเด็กไทยยังไม่ได้รับการศึกษาภาคบังคับครบทุกคน และเด็กที่มาจากครอบครัวผู้มีรายได้น้อยจะมีโอกาสศึกษาในระดับสูงขึ้นไปยังต่ำ ขณะที่ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ส่วนผู้สูบบุหรี่และผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่อาศัยในเขตเทศบาลและผู้ที่จบปริญญามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผู้สูบบุหรี่ที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2554 ร้อยละ 22.6 จากปี 2552

สถานการณ์การแพร่ระบาดยาเสพติดยังคงความรุนแรงพบการจับกุมผู้ค้าและผู้เสพยังคงมีสัดส่วนมากที่สุดของคดีอาญารวม โดยสามารถจับกุมผู้ต้องหาคดียาเสพติดได้ 120,567 คน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2555 และจากไตรมาสก่อนหน้า ร้อยละ 21.6 และ 6.4 ตามลำดับ และต้องเฝ้าระวังการระบาดของยาไอซ์ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

ส่วนการสร้างหลักประกันด้านรายได้กับแรงงานนอกระบบครอบคลุมกรณีชราภาพเพิ่มขึ้น โดยได้มีการขยายทางเลือกในมาตรา 40 ในรูปของบำนาญสำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบ เนื่องจากจำนวนผู้ประกันในประกันสังคมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 9.7 ล้านคน ในปี 2553 เป็น 12.3 ล้านคน ในปี 2556หรือร้อยละ 31.3 ของกำลังแรงงาน โดยผู้ประกันมาตรา 40 ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ มีอัตราเพิ่มจาก 5.9 แสนคน ในปี 2554 เพิ่มเป็น 1.5 ล้านคน ขณะที่แนวโน้มประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ของประชากร ในปี 2553 เป็นร้อยละ 25 ในปี 2573 และร้อยละ 32 (20.5 ล้านคน) ในปี 2558แต่สิทธิประโยชน์กรณีชราภาพไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

นอกจากนี้ สภาพัฒน์ยังเผยแพร่เรื่องเด่นประจำฉบับ "ผู้มีรายได้น้อยในเขตเมือง:การปรับตัวต่อภาวะค่าครองชีพ" พบว่า ผู้มีรายได้น้อยในเขตเมืองมีรายได้เฉลี่ย 1 ใน3 ของรายได้เฉลี่ยของผู้อยู่ในเมือง มีผู้มีรายได้น้อยในเขตเมือง 2.5 ล้านครัวเรือน หรือ 9 ล้านคน มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 3,248 บาทต่อคนหรือเป็นเพียง 1 ใน 3 ของรายได้เฉลี่ยของผู้ที่อยู่ในเมือง และต่ำกว่ารายจ่ายเฉลี่ยที่ 3,642 บาทต่อคน ขณะที่ครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยร้อยละ 44 มีหนี้สินโดยเฉลี่ยต่อครัวเรือนเท่ากับ 122,486 บาท ขณะที่กรุงเทพฯ มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงสุดคือ 232,223 บาทต่อครัวเรือน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนครัวเรือนที่เป็นหนี้สูงสุดคือ ร้อยละ 55.41

ผู้มีรายได้น้อยในเขตเมืองรุ่นใหม่มีการศึกษาดีกว่าคนรุ่นก่อน แต่ยังแตกต่างอยู่มากเมื่อเทียบกับผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูงกลุ่มวัยแรงงาน ผู้มีรายได้น้อยในเขตเมืองมากกว่าครึ่งเป็นเจ้าของบ้านและ เป็นเจ้าของบ้านและที่ดิน รองลงมาเป็นการเช่า

"มีความเปราะบางและความเสี่ยงจากปัญหาสังคม ผู้มีรายได้น้อยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงกว่ากลุ่มอื่น ครัวเรือนที่มีเศรษฐานะต่ำสุดมีอัตราการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายสูงกว่าเท่าตัว" รายงานฯ ระบุ

ผลกระทบจากภาวะค่าครองชีพและการปรับตัวของผู้มีรายได้น้อยในเขตเมือง จากรายงานผลสำรวจผู้มีรายได้น้อยในเขตเมือง: การปรับตัวต่อภาวะค่าครองชีพในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พบว่า ด้านเศรษฐกิจ ผู้มีรายได้น้อยในเขตเมืองกว่า 3 ใน 4 ได้รับผลกระทบเรื่องรายได้และรายจ่าย เกือบครึ่งหนึ่งมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย และ 3 ใน 5 ของประชากรตัวอย่างมีหนี้สิน ส่วนใหญ่เป็นหนี้สินที่สามารถผ่อนชำระได้

รายงานระบุว่า เป็นหนี้ที่เป็นภาระหนักไม่สามารถผ่อนชำระด้วยตัวเองได้ ผู้มีรายได้น้อยในเขตเมืองมีหนี้สินเฉลี่ย 149,229 บาท จ่ายอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยร้อยละ 31.32 ต่อปี แหล่งเงินกู้ส่วนใหญ่ของผู้มีรายได้น้อยในเขตเมืองเป็นสถาบันการเงินร้อยละ 64 ขณะที่เป็นการกู้นอกระบบร้อยละ 17 ผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ มีสัดส่วนการกู้เงินนอกระบบหรือจากเพื่อนหรือญาติในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้มีรายได้น้อยในภูมิภาค ซึ่งมีความได้เปรียบจากการมีที่อยู่อาศัยหรือที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน และด้วยข้อจำกัดด้านหลักทรัพย์นี้ทำให้ผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ ต้องเสียอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราที่สูงกว่าเท่ากับร้อยละ 59.45ต่อปี ขณะที่ในภูมิภาคจ่ายดอกเบี้ยในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 27.76 ต่อปี

ด้านการทำงานและด้านสังคม กลุ่มตัวอย่างกว่าครึ่งได้รับผลกระทบด้านการทำงาน และส่งผลทำให้ต้องออกจากงาน การปรับตัวต่อภาวะค่าครองชีพ ผู้มีรายได้น้อยในเขตเมือง 3 ใน 4 ใช้วิธีจ่ายน้อยลงหรือใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ซื้อของที่มีคุณภาพลดลง นอกจากนี้ เงินทุนและข้อมูลยังเป็นข้อจำกัดในการเตรียมพร้อมรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ จึงควรส่งเสริมอาชีพหรือจัดหางานแก่ผู้มีรายได้น้อย และสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของความประหยัด และไม่ฟุ้งเฟ้อทางวัตถุ

มาตรการที่บรรเทาผลกระทบค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อย ประกอบด้วย 1.ดำเนินมาตรการช่วยเหลือเฉพาะหน้า โดยเพิ่มประสิทธิภาพและขยายการดำเนินโครงการช่วยเหลือค่าครองชีพแก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่มีอยู่ให้ได้รับบริการอย่างทั่วถึง 2.สร้างรายได้และพัฒนาศักยภาพ โดยเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีอยู่ การฝึกอาชีพ พัฒนาทักษะและสมรรถนะที่จำเป็นต่อสร้างอาชีพและรายได้ สร้างองค์ความรู้โดยให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ผ่านสื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ ตลอดจนอุดหนุนกลุ่มคนจนโดยเฉพาะด้านการศึกษาเพื่อเพิ่มโอกาสให้สามารถพัฒนาศักยภาพ พัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับตนเองให้หลุดพ้นจากความยากจน 3.เตรียมความพร้อม โดยสร้างวินัยการใช้จ่าย ทำบัญชีครัวเรือน และส่งเสริมคุณค่าการออมตั้งแต่วัยเด็กเพื่อสร้างหลักประกันรายได้ในอนาคต ช่วยลดความเสี่ยงทั้งจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ การเจ็บป่วยและการขาดรายได้จากการเป็นผู้สูงอายุ และ 4.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเพื่อเป็นองค์กรเชื่อมต่อโครงการภาครัฐให้สามารถดำเนินงานสู่กลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ