โดยหากผู้ชุมนุมบุกรุกสถานที่ราชการเกิน 1-2 สัปดาห์จะส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายภาครัฐในช่วงที่เหลือของปี ไม่เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 27-28 เพราะอัตราการเบิกจ่ายล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 15 ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือ GDP ในไตรมาส 4 โตน้อยกว่าไตรมาส 3 แต่ยังไม่ถึงขั้นติดลบ ซึ่งจะทำให้ GDP ทั้งปีขยายตัวต่ำกว่าที่ร้อยละ 3 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3.7
ดังนั้น ในเดือนหน้า สศค.เตรียมปรับประมาณ GDP ปีนี้ใหม่ โดยจะติดตามการปิดสำนักงบประมาณว่าจะยืดเยื้อและรุนแรง จนกระทบต่อความเชื่อมั่นและการลงทุนมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งการท่องเที่ยวที่เริ่มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ซึ่งการท่องเที่ยวถือเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี รวมทั้งยังต้องติดตามการฟื้นตัวการส่งออกไตรมาส 4 อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า หากการชุมนุมไม่ยืดเยื้อรุนแรงก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมนัก
ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองขณะนี้เชื่อว่าส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ จากเศรษฐกิจในไตรมาส 3/56 ที่แผ่วลง โดยการลงทุนภาคเอกชน การบริโภคภายในติดลบ การส่งออกไม่เติบโต หรือ0% แต่ยังมีภาคการท่องเที่ยว ภาคคมนคมขนส่ง และภาคการเงิน ยังขยายตัวได้ดี
อย่างไรก็ตาม ได้มี 16-17 ประเทศประกาศประชาชนของตนเองหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ก็อาจจะทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยว ภาคคมนคมขนส่ง และภาคการเงิน มีปัญหาได้
ฉะนั้น คาดว่าหากสถานการณ์การเมืองยืดเยื้อจะทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/56 กระทบหรือเติบโตได้ไม่ถึง 1.9% และทั้งปี 56 จะโตไม่ถึง 3%หลังจากที่สภาพัฒน์ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจ และคาดว่าจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 57 ที่คาดเติบโต 5% อาจจะปรับลดเหลือ 4-5% เพราะการบริโภคภายในประเทศอาจไม่เติบโตตามที่คาดการณ์ไว้ และการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท อาจไม่เกิดขึ้น ในเมื่อการเมืองไม่มีเสถียรภาพ การขับเคลื่อนโครงการก็จะไม่เกิดขึ้น
"ถ้าการเมืองยืดเยื้อ ก็อย่าหวังว่ารัฐบาลจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนไม่เกิด เศรษฐกิจก็จะแผ่ว หลายคนอาจคิดว่าปีหน้าโต 4-5% อาจจะเติบโตต่ำกว่า 4% ถ้าโตได้ 3-4%ก็ดีแล้ว"นายกอบศักดิ์กล่าว
ขณะเดียวกันตลาดหุ้นไทย ดัชนีได้รับตัวลงไปในระดับน่าสนใจจากระดับ 1,650 จุด มาที่ระดับ 1,350 จุด แต่นักลงทุนต่างประเทศยังลังเลในการเข้าลงทุนตลาดหุ้นไทย เพราะมีการชุมนุมทางการเมือง ประกอบกับโบรกเกอร์ต่างประเทศต่างลดน้ำหนักหุ้นไทย ทำให้เกิดความกังวลใจ จึงเป็นสาเหตุที่เงินทุนต่างประเทศยังไหลออก นอกจากนี้ยังมีการปรับลดมาตรการ QE ของสหรัฐ ยิ่งทำให้เงินทุนไหลออก ก็ยิ่งเป็นแรงกดดันต่อตลาดทุนไทย
ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมีผลต่อประเทศ หากต่างชาติที่กำลังตัดสินใจเลือกไทยเป็นฐานกำลังการผลิต อาจจะเปลี่ยนใจไปใช้ประเทศอื่น เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย แทนประเทศไทย เมื่อถึงเวลาการเมืองไทยนิ่งก็ยากที่ดึงเขากลับมา
นายกอบศักดิ์ คาดว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพรุ่งนี้ จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ แม้ว่าตอนนี้สัญญาณเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัว แต่การปรับลดดอกเบี้ยก็จะยิ่งหนุนให้เงินทุนต่างชาตไหลออก และจะกระทบค่าเงินบาท ซึ่งวันนี้ค่าเงินบาทได้อ่อนตัวลงมาเห็นได้ชัด ที่ระดับ 32 บาท/ดอลลาร์ ในเวลาอันสั้น
"แบงก์ชาติ หนักใจเพราะเขาก็ต้องพยายามให้เงินบาทมีเสถียรภาพ และดูว่าดอกเบี้ยจะทำยังไงถ้าเศรษฐไทยยังแย่ การประชุมในวันพรุ่งนี้ อยากรอดูว่าสถานการณ์ ซึ่งถ้าหากมีปัญหาเชื่อว่าแบงก์ชาติพร้อมประชุมนัดพิเศษ เพื่อลดดอกเบี้ยหรืออาจจะปรับลดในการประชุมครั้งต่อไป ตอนนี้เห็นชัดเจนถ้าดอกเบี้ยลง เห็นเงินทุนไหลออก ซึ่งซ้ำเติมปัญหาค่าเงิน เพราะถ้าบาทออ่น คุมไม่อยู่เป็นปัญหา ก็ต้องดูแลค่าเงิน และดุแลเศรษฐกิจที่แผ่วไปด้วย" นายกอบศักดิ์ กล่าว
นางสุทธาภา อมรวิวัฒน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสต์ และ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) กล่าวว่า ความเสี่ยงทางการเมือง กระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติ อาจส่งผลให้เงินลงทุนใหม่ชะลอการเข้ามาลงทุนในไทย เพราะปัญหาความขัดแย้งในประเทศต่อเนื่องมาถึง 8-9 ปี ขณะเดียวกันกังวลว่าอาจจะทำให้การลงทุนในประเทศตามนโยบายของรัฐ เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ล่าช้าออกไป อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งหากเทียบอัตราการลงทุนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน พบว่าการลงทุนของไทยน้อยมาก ดังนั้นหากความขัดแย้งทางเมืองรุนแรงขึ้น จะส่งผลต่อแผนการลงทุนทั้งของนักลงทุนไทยและต่างชาติชะลอออกไปแน่นอน
ด้านนายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองทำให้ศักยภาพเศรษฐกิจของไทยถดถอย นักลงทุนเกรงว่าจะกลับไปสู่วงจรเดิมที่ใช้ความรุนแรงเหมือนปี 53 แสดงว่าช่วง 2 ปีที่สงบเป็นภาพลวงตา และในอีก 4-5 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น
"ถ้า 1- 2 วันนี้ยังไม่ข้อยุติได้ก็จะกระทบ อยากเห็นคนกลางที่มีความรู้ที่จะหาทางออก มาพูดคุยทั้ง 2 ฝ่ายให้ลดทิฐิลง" นายสมชัย กล่าว